GPSC ผนึก 9 บริษัท ต่อยอดพัฒนาแบตเตอรี่ EV ต้นแบบ

70

มิติหุ้น – GPSC ลงนาม MOU กับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า 9 บริษัท ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Semi-Solid สู่ชุดแบตเตอรี่ (Common Battery Pack) เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พัฒนาระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีบริการชาร์จในอนาคต สอดรับนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ก้าวทันเทรนด์โลก หนุนไทยเป็นฮับผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยวันนี้ (29 เมษายน 2564) ว่า GPSC ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 9 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่ และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ที่นำเทคโนโลยี Semi-Solid ของ GPSC หรือ G-Cell มาพัฒนาต่อยอด เพื่อติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ประเภทจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านความปลอดภัย การระบายความร้อน และการลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าในอนาคต

ทั้งนี้ ความร่วมมือร่วมกับทั้ง 9 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด (Fomm (Asia) Company Limited) 2.บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (I-Motor Manufacturing Company Limited) 3.บริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด (Toyotron Motor Company Limited) 4.บริษัท ฟอมม์มิวนิตี้ จำกัด (Fommunity Company Limited) 5.บริษัท เอเชีย เทคโนโลยี อินดัสทรีส์ จำกัด (Asia Technology Industry Company Limited) 6.บริษัท บางกอกเพย์ จำกัด (Bangkok Pay Company Limited) 7.บริษัท สตรอง (ไทยแลนด์) จำกัด (Strongs (Thailand)  Company Limited) 8.บริษัท อำนวยการดับเพลิง จำกัด (Amnuay Fire  Extinguishers Company Limited ) และ 9.บริษัท สามล้อไทย จำกัด (Samlor Thai Company Limited)

สำหรับกรอบความร่วมมือครั้งนี้ มีแผนดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบของแบตเตอรี่และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่ครอบคลุมในข้อกำหนดด้านต่างๆ ทั้งในคุณสมบัติการพัฒนาแบตเตอรี่ การออกแบบองค์ประกอบของเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการระบายความร้อนและความปลอดภัยโดยอิงมาตรฐานสากลเป็นต้นแบบ 3 มิติของชุดแบตเตอรี่ที่จะใช้ในการผลิต ระยะที่ 2 ความร่วมมือทางด้านการผลิตชุดแบตเตอรี่ต้นแบบ ที่จะนำไปติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ โดยการใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) รวมทั้งการจัดตั้งสถานีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Battery Swapping Station) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ฟอมม์มิวนิตี้ และบริษัท เอเชีย เทคโนโลยี อินดัสทรีส์ โดยจะมีการทดสอบระบบความพร้อมและประสิทธิภาพการใช้งานก่อนที่จะนำไปสู่การติดตั้งให้บริการในเชิงพาณิชย์ต่อไป ส่วนระยะที่ 3 จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์

“ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าของการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ(Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก” นายวรวัฒน์ กล่าว

www.mitihoon.com