มิติหุ้น – ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เราได้เรียนรู้และได้รับบทเรียนจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจากเหตุการณ์นั้นๆ ปัจจัยสำคัญที่นำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตของการแพร่ระบาดคือ การนำมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ มาปรับใช้ในสังคมไทย ร่วมกับการให้ภูมิคุ้มกันที่ดีกับประชาชน โดยหากทุกฝ่ายร่วมมือกันและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ก็จะเป็นหนทางที่สามารถนำพาประเทศสู่ทางออกได้
เนื่องในสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week 2021) ซึ่งตรงกับวันที่ 24 – 30 เมษายนของทุกปี รศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื้อโรคเปรียบเสมือนข้าศึก ภูมิคุ้มกันทำหน้าที่เหมือนทหาร ถ้าเรามีทหารที่พร้อมรบ เราก็จะสามารถป้องกันโรคได้ ตามความเป็นจริงร่างกายคนเรามีภูมิคุ้มกันทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล
หากมองในแง่ของการป้องกันโรค การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อต่างๆ การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อได้ โดยวัคซีนสามารถช่วยชีวิตคนได้ 5 คนทั่วโลกในทุก 60 วินาที เนื่องจากโรคติดเชื้อบางโรคมีอาการรุนแรงซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อีกทั้งโรคบางโรคยังแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ หากเราป่วยแม้จะมีอาการไม่มาก เชื้อก็ยังสามารถแพร่กระจายไปยังคนคนรอบข้างได้ ซึ่งถ้าคนเหล่านี้มีโรคประจำตัวอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ นับตั้งแต่เริ่มมีการให้วัคซีนในการป้องกันโรคต่างๆ อายุขัยของคนเพิ่มขึ้นถึง 15-25 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น
ยังมีความเชื่อว่าวัคซีนมีความจำเป็นสำหรับเด็ก ส่วนผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน แต่ในระยะหลังๆ คนไทยเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับวัคซีนมากขึ้น หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐได้รณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และคนที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคอ้วน เพราะวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ หากคนกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก การที่ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะสามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและภาวะแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับโรคได้ถึงร้อยละ 60 และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ถึงร้อยละ 80
รศ. นพ. ชิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า อายุยังมีความสัมพันธ์กับการเลือกฉีดวัคซีน เพราะโรคติดเชื้อแต่ละโรคจะเกิดกับคนในแต่ละวัย จึงแบ่งวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. วัคซีนสำหรับเด็ก 2. วัคซีนสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ และ 3. วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ วัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนของทุกวัย วัคซีนนิวโมคอคคัสหรือวัคซีนไอพีดีเป็นวัคซีนสำหรับคนสองวัยคือ เด็กวัย 5 ขวบปีแรกและผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป
สำหรับวัคซีนโควิด-19 อายุที่จะเลือกฉีดวัคซีนก็มีความสำคัญเช่นกัน ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี อาจเพราะเหตุผลสองประการคือ 1. เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปเด็กที่ติดเชื้อโควิดจะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่อาการของผู้ป่วยเด็กอาจจะรุนแรงได้ 2. วัคซีนโควิด-19 ยังไม่มีการศึกษาในเด็ก เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ แนะนำสำหรับวัยรุ่นอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ยังไม่แนะนำให้ฉีดในเด็ก ที่สำคัญวัคซีนโควิด-19 มีหลายชนิด แต่ละชนิดทำการศึกษาในคนแต่ละกลุ่มแต่ละวัย ทั้งนี้หน่วยงานองค์กรด้านสาธารณสุขของไทยจำเป็นต้องติดตามผลการวิจัยและผลการนำวัคซีนมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะจะทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนแต่ละชนิดว่ามีมากน้อยเพียงใด
ทิศทางการผลิตวัคซีนในอนาคตตามความคิดเห็นของ รศ. นพ. ชิษณุ นั้นจะแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ 1. วัคซีนป้องกันโรคที่อาจเกิดการระบาดขึ้นใหม่ ซึ่งจะต้องมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้ได้รวดเร็ว วัคซีนโควิด-19 ถือว่าผลิตขึ้นได้รวดเร็วมาก และสามารถนำมาใช้ทั่วโลกในการควบคุมการแพร่ระบาดได้จริง แต่ประสิทธิภาพจะเพียงพอหรือไม่ อาการข้างเคียงของวัคซีนจะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามดูข้อมูลด้านการพัฒนาวัคซีนต่อไป 2. วัคซีนป้องกันโรคที่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันวัคซีนยังอยู่ระหว่างการคิดค้น เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ EV71 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคมือเท้าปากที่มีการแพร่ระบาดอย่างมากในโรงเรียนและผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีอาการรุนแรง วัคซีนป้องกันโรคติด respiratory syncytial virus (RSV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ โดยในแต่ละปีจะมีเด็กจำนวนมากที่ป่วยจากภาวะปอดบวมจากเชื้อ RSV แพทย์จะให้การรักษาตามอาการด้วยการให้ออกซิเจน พ่นยาขยายหลอดลม และให้น้ำเกลือ ในอนาคตน่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ RSV และมียาที่ใช้ในการรักษา อีกประการที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้วัคซีนครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อให้เพิ่มขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการป้องกันโรค ยกตัวอย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเดิมที่มีวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ ได้พัฒนาให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ วัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ซึ่งป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่นที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี ได้ดีกว่าวัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ได้มาจากวัคซีนอย่างเดียว ทุกคนควรต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารเพื่อสุขภาพ ตรวจเช็คร่างกายประจำปี เพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อจากโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังออกนอกบ้านและมีโอกาสเสี่ยงที่จะรับเชื้อและมาแพร่สู่คนที่บ้านและคนใกล้ชิด เพราะไม่สวมหน้ากากอนามัยที่บ้าน ทุกคนยังนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกันโดยไม่ได้เว้นระยะห่าง จึงอยากให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตนเองด้วยเกราะป้องกัน 4 ข้ออย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือ และการหลีกเลี่ยงสัมผัสพื้นผิวสาธารณะและใบหน้า
อย่างไรก็ตามเกราะป้องกันทั้ง 4 ข้ออาจยังไม่เพียงพอต่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ จึงเป็นที่มาของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนซึ่งเป็นอีกทางออกหนึ่งที่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค เพราะ ‘การป้องกันสำคัญกว่าการรักษา’ อีกทั้ง การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ควรนั้นควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษกิจของประเทศ และจะลดภาระด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้อย่างมหาศาลอีกด้วย
www.mitihonn.com