มิติหุ้น – โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เล็งเห็นถึงความเสียสละของครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชน และประชาชนให้เป็นคนดี และคนเก่งตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงได้จัด โครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เป็นอเนกประการต่อปวงชน อีกทั้งยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อส่วนรวมในท้องถิ่นทุรกันดาร และห่างไกลมาโดยตลอด อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ครู นักเรียน ประชาชนทั่วไป โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธานคณะกรรมการโครงการครูดีเด่น ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกครูจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) หน่วยงานละ 3 รางวัล รวมปีละ 9 รางวัล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างดีมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า กล่าวว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยในการศึกษาของผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เมื่อปี พ.ศ.2507 ทรงพระกรุณาโปรดให้ตำรวจตระเวนชายแดนจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ และตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ทรงมีพระเมตตาให้ความช่วยเหลือการดำเนินงานของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาของกรมการศึกษานอกโรงเรียนในสมัยนั้น โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการให้ความช่วยเหลือ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่าต่อในนามของ “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” โดยการดำเนินงานจะอยู่ภายใต้ “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ตั้งขึ้นตามพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรณียกิจ อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับครูที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพัฒนาเยาวชน และประชาชนให้ได้รับความรู้ ซึ่งคือดวงประทีปที่จะส่องสว่างให้กับพวกเขาต่อไปในอนาคต”
นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักดีถึงความสำคัญของการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ “ครู” ที่ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการสร้าง พัฒนาความรู้ กระบวนการคิด และส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดจนปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงาม ทั้งต่อกลุ่มเยาวชน ผู้เรียนตามวัย และตามศักยภาพ เพื่อผู้เรียนจะได้มีแนวทางในการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ดำรงชีวิต เพื่อตัวเอง และเพื่อสังคมอย่างเหมาะสม จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า จัดโครงการ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มโครงการ รวมระยะเวลา 13 ปี เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้ปรากฏประจักษ์ต่อสาธารณชน และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล และเสี่ยงภัย ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด นอกจากนี้ธนาคารฯ ยังได้สนับสนุนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ครูที่ได้รับรางวัลทั้งหมดได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สอดรับกับสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะการศึกษา ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องก้าวทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สร้างให้ผู้เรียนเป็นนักคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และพัฒนาองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยครูเป็นเพียงผู้ออกแบบการเรียนรู้ แนะนำ และอำนวยความสะดวก ซึ่งธนาคารฯ จะมีการพิจารณาจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ธนาคารฯ ขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณครูนักพัฒนาที่เสียสละทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นศูนย์รวมใจและเป็นแบบอย่างการทำความดีแก่ครู นักเรียน ประชาชนทั่วไป”
พิธีการมอบ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนวันทำพิธีมอบรางวัลออกไปก่อน และเพื่อเป็นเกียรติแก่ครูทุกท่านที่ได้รับการคัดเลือก จึงขอประกาศเกียรติคุณแก่ครูที่ได้รับรางวัล ประจำปีพ.ศ.2563 (รุ่นที่ 12) และพ.ศ.2564 (รุ่นที่ 13) ดังนี้
ครูที่ได้รับ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2563 (รุ่นที่ 12)
ครูสังกัดหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้แก่ สิบตำรวจเอกชายแดน ภู่นายพลศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายบ้านโกแประ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดาบตำรวจวิโรจน์ ควรแจ่มดี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่ลอง จังหวัดเชียงใหม่ ดาบตำรวจหญิงจำเรียม พรมเพ็ชร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านประกอบออก จังหวัดสงขลา ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้แก่ นางสาววราภรณ์ เฟื่องฟ้า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านซอแข่วาคี จังหวัดตาก นางสาวณัฏฐนันท์ สุภาธง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปง” จังหวัดเชียงใหม่ นางศศิมา ไชยเดช ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดยะลา ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายสุพจน์ เรืองแก้ว โรงเรียนนาทวีวิทยาคม จังหวัดสงขลา นางสุชาดา จารงค์ โรงเรียนบ้านตะบิงติงงี จังหวัดยะลา นายสุกรี แวหะมะ โรงเรียนบ้านท่าสาป จังหวัดยะลา
ครูที่ได้รับ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2564 (รุ่นที่ 13)
ครูสังกัดหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้แก่ ดาบตำรวจวีรชัย คำแก้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4 จังหวัดเชียงราย ดาบตำรวจเขตต์ตวัน ยั่งยืนวณิชกุล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอาชีวศึกษา เชียงราย – พะเยา จังหวัดเชียงราย ดาบตำรวจหญิงประพิน มะลิชู ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภักดี จังหวัดยะลา ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย (กศน.) นายภัทร แม่หละเจริญพร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านดูบลอคี จังหวัดตาก นายศิริ ถาวรวิจิตร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านอะบอโด่ จังหวัดเชียงราย นางพาตีเมาะ ดีรีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ นางมาลี บุญเทพ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวเมธิญา ยะขาว โรงเรียนบ้านผาเดื่อ จังหวัดเชียงราย นายอาดัม ยูโซะ โรงเรียนบ้านชะเอาะ จังหวัดปัตตานี
คุณครูเจ้าฟ้าฯ ทุกท่าน ได้ทำงานด้วยความทุ่มเท ด้วยหัวใจ ด้วยศรัทธา และจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู 24 ชั่วโมงในแต่ละวันที่ยอมเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัว ไม่เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของความเป็นครู แต่ยังได้ให้ความช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสและเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร ช่วยให้เด็กนักเรียน ประชาชน และชุมชนมีการพัฒนาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมควรได้รับการเผยแพร่คุณงามความดี และยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นแม่พิมพ์ และแบบอย่างการทำความดีในสังคมต่อไป
www.mitihoon.com