“Unlock Your Trade : ปลดล็อกความคิด พิชิตกำไรใน TFEX

221

เนื่องในโอกาสตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ครบรอบ 15 ปี ก้าวไปสู่ปีที่ 16 จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในหลากหลายด้าน มาร่วมพูดคุยและแชร์ความรู้ให้กับผู้ลงทุนมือใหม่ใน งานสัมมนาพิเศษ “Unlock Your Trade : ปลดล็อกความคิด พิชิตกำไรใน TFEX โดยงานสัมมนาพิเศษครั้งนี้ก็ได้แบ่งเนื้อหาเข้มข้นออกเป็น 2 Session ใหญ่ เริ่มต้น Session แรกด้วยหัวข้อ

Unlock ไอเดียเทรด…3 กลยุทธ์ รับมือทุกสถานการณ์ใน TFEX”

ซึ่งบรรยายด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ 3 ท่าน

กลยุทธ์แรก เป็นเรื่องการหาจังหวะการซื้อขายด้วย Technical ในหัวข้อ ‘เปลี่ยน Trend เป็นโอกาส ในช่วงตลาดกลับตัว/ผันผวน’ ที่ได้รับเกียรติจากคุณจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการ ฝ่ายแนะนำการลงทุน บลป. คลาสสิก ออสสิริส มาให้คำแนะนำและแชร์เทคนิคเชิง Technical ที่จะช่วยหาจังหวะการซื้อขายในแต่ละรูปแบบของราคา หรือ Price Pattern ที่มักเจอบ่อย ๆ ในตลาด TFEX เพื่อเพิ่มทักษะการเทรดให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น เช่น

 

  • Head and Shoulders Top มักจะเกิดบนแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดรูปแบบนี้ขึ้นแล้วอาจมีโอกาสกลับตัวเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาลงได้ สังเกตจากลักษณะราคาจะทำจุดสูงสุดทั้งหมด 3 ยอด โดยที่ยอดฝั่งซ้ายและขวาเรียกว่า “ไหล่” (Shoulders) ซึ่งจะต้องไม่สูงกว่ายอดสูงสุดตรงกลาง ส่วนยอดสูงสุดตรงกลางเรียกว่า “หัว” (Head) ซึ่งหากลากเส้นระหว่างจุดต่ำสุดของยอดตรงกลางนี้จะเรียกว่า Neckline เป็นการหาแนวรับ หากราคาลดต่ำลงมาจนงทะลุแนวรับ จะเริ่มเป็นสัญญาณให้ทำการขาย (Short)
  • Head and Shoulders Bottom จะตรงกันข้ามกับรูปแบบ Head and Shoulders Top มักจะเกิดบนแนวโน้มขาลง เมื่อเกิดรูปแบบนี้ขึ้นก็อาจมีโอกาสกลับตัวเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้นได้เช่นเดียวกัน สังเกตจากลักษณะราคาจะทำจุดต่ำสุดทั้งหมด 3 ยอดด้านล่าง โดยที่ “ไหล่” ทั้งซ้ายและขวาไม่ต่ำกว่ายอดต่ำสุดตรงกลางที่เป็น “หัว” และเส้น Neckline ครั้งนี้จะเป็นแนวต้าน ถ้าหากราคาวิ่งทะลุเส้นนี้ไปได้ จะเริ่มเป็นสัญญาณในการซื้อ (Long)

 

 

  • Head and Shoulders Variations

เป็นรูปแบบที่ราคามีการย่ำอยู่ที่เดิมมาซักพัก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ด้วยการสะสมสถานะของผู้ลงทุนในระยะเวลาพอสมควร หาจุดต่ำสุด เพื่อลากเป็นเส้นแนวรับ เมื่อราคาหลุดแนวรับก็มีโอกาสที่จะลดลงได้อย่างรุนแรง และเมื่อมีแรงเสริมจากการตัดขาดทุน (Cut Loss) ของผู้ที่ถือสถานะมาผิดทาง ก็ยิ่งเพิ่มความผันผวนด้านราคาให้มากยิ่งขึ้น

  • Double Tops เป็นรูปแบบที่ราคาทำยอดสองยอด โดยที่ไม่ทำยอดใหม่ เป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณการเริ่มกลับตัวเป็นขาลง ใช้การลากเส้นฐานด้านล่าง (จุดต่ำสุด) ของทั้งสองยอดเชื่อมด้วยกันให้เป็นเส้นแนวรับ หากราคาหลุดแนวรับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะลงได้ต่อ
  • Double Bottoms ตรงกันข้ามกับรูปแบบ Double Tops โดยราคาจะทำจุดต่ำสุดสองจุด โดยที่ไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ ราคาเริ่มชะลอตัวอาจเป็นจุดเริ่มของการกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ ใช้การลากเส้นฐานด้านบน (จุดสูงสุด) เชื่อมด้วยกันให้เป็นเส้นแนวต้าน หากราคาสูงขึ้นเกินแนวต้านก็มีโอกาสที่ราคาจะขึ้นได้ต่อ
  • Flag รูปแบบที่ราคาขยับตัวอยู่ในแนวโน้มแคบ ๆ เป็นระยะเวลาพอสมควร เมื่อใดที่ราคาสามารถทะลุกรอบเดิมและกราฟแท่งเทียนปิดแท่งออกจากกรอบได้ ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างมากเช่นกัน
  • Symmetrical Triangle เป็นรูปแบบสามเหลี่ยมลู่เข้าตรงกลาง ราคาวิ่งขึ้นและลงอยู่ในลักษณะกรอบที่บีบแคบลงเรื่อย ๆ ผู้ลงทุนควรรอให้ราคาเกิดการสวิงหลุดกรอบ จนเลือกทิศทางก่อน แล้วจึงค่อยเปิดสถานะตาม เพราะราคาอาจวิ่งขึ้นหรือลงได้หลายครั้งในแพทเทิร์นเดียวกัน เมื่อแน่ใจหรือเห็นทิศทางที่ชัดเจนแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกเปิดสถานะ
  • Ascending Triangle เป็นรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ขึ้นด้านบน ที่ราคาวิ่งขึ้นชนจุดสูงสุดเดิมหลาย ๆ ครั้ง ส่วนจุดต่ำสุดจะค่อย ๆ ยกตัวสูงขึ้นบีบกรอบราคาให้แคบลง หากราคาสามารถยืนเหนือกรอบเดิม จึงค่อยเปิดสถานะตามแนวโน้มหลัก โดยมักจะไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มช่วงก่อน

 

 

  • Descending Triangle เป็นรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ลงด้านล่าง ที่ราคาสูงสุดค่อย ๆ ปรับตัวต่ำลง โดยที่ยังไม่หลุดกรอบสามเหลี่ยมซึ่งจะบีบแคบลงเรื่อย ๆ เช่นกัน เพื่อรอเวลาที่ราคาจะดีดหลุดกรอบเดิม แล้วค่อยเปิดสถานะตามแนวโน้มหลัก โดยมักจะไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มช่วงก่อน
  • Breakaway Gap เมื่อราคาปรับตัวพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มาก ก็จะมีนัยยะเกื้อหนุนจนอาจเกิดการกระโดดของราคา เปิดแก๊ปของกราฟแท่งเทียนได้ มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแนวโน้มของตลาด ถือว่ามีนัยสำคัญต่อทิศทางราคา

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถดูเทรนด์แนวโน้มของตลาดได้จากการเกิด Divergence ของ Indicator กับราคา คือการเคลื่อนตัวของราคาจะไปคนละทิศทางกับตัวของ Indicator ซึ่งในตัวอย่างจะใช้ RSI และ MACD โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้ดังนี้

  • Bullish Divergence

เมื่อราคาปรับตัวลดลงจนทำฐานใหม่ด้านล่าง แต่ Indicator กลับสร้างฐานใหม่ที่สูงขึ้นสวนทางกับราคา รูปแบบการเคลื่อนตัวแบบนี้ของ RSI/MACD บ่งบอกถึงโอกาสในการกลับตัวของราคา จากขาลงอาจเปลี่ยนเป็นขาขึ้นได้ ถ้าถือสถานะ Short แนะนำให้ทยอยปิดสถานะออก ส่วนจะกลับมาเปิดสถานะ Long หรือไม่ ต้องดูว่ากราฟราคาปิดแท่งจนเริ่มทำ High ใหม่หรือไม่

  • Bearish Divergence

เป็นรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับ Bullish Divergence คือราคาทำยอดใหม่ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ Indicator กลับทำยอดใหม่ที่ต่ำลงเรื่อย ๆ แทน การเคลื่อนตัวของ RSI/MACD แบบนี้บ่งบอกถึงโอกาสในการกลับตัวของราคา จากขาขึ้นอาจเปลี่ยนเป็นขาลงได้ ดังนั้น หากเห็นภาพแบบนี้ให้เตรียมปิดสถานะ Long และหากกราฟราคาปิดแท่งเริ่มทำ Low ใหม่ก็มีสิทธิเปลี่ยนเป็นขาลงได้เช่นกัน

ก่อนที่จะจบการบรรยาย คุณจรณเวท ได้ให้ข้อคิดกับนักเทรดมือใหม่ทุกคนว่า ถึงแม้ว่าจะมีข่าวลบเข้ามา ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจเกินไปเพราะเรากำลังดูแนวโน้มภาพใหญ่ การกระทบจุดเล็ก ๆ ให้เก็บเป็นข้อมูลพิจารณา อย่าตกใจกับทุกข่าวในทุกวันจนเกินไป ดังที่เห็นได้จากข่าวโควิด-19 ที่ถึงแม้จะทำให้ราคาลดลงจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิด New Low เพราะดัชนีได้กลับตัวขึ้นมาแล้ว และยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไร ผลกระทบของข่าวต่าง ๆ นั้นก็จะยิ่งส่งผลน้อยลงเรื่อย ๆ

ต่อกันด้วยหัวข้อ ‘เทคนิคเทรด TFEX ในทุกจังหวะตลาดด้วย Options’ จาก คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร,CFA ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บล.เกียรตินาคินภัทร ซึ่งเริ่มจากการอธิบายถึงความหมายของ Options ก่อน

‘Options คือสิทธิ’

โดยที่ผู้ซื้อ Options จะต้องจ่ายเงินค่า Premium ให้กับผู้ขายทันทีในวันซื้อขาย และสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ในวันครบอายุสัญญา ซึ่งฝั่งผู้ซื้อจะจำกัดการขาดทุนอยู่แค่ค่า Premium ที่ได้จ่ายไป ส่วนทางด้านผู้ขายนั้นจะได้รับเงินค่า Options หรือค่า Premium จากผู้ซื้อมาก่อน รับรู้เป็น Unrealized Gain/Loss และมีภาระติดตัวไปตลอดจนกว่าสัญญา Options จะหมดอายุ ซึ่งหากตัว Options ถูกใช้สิทธิในวันครบสัญญา ก็อาจขาดทุนมากเกินกว่าค่า Premium ที่ได้รับมาตอนแรก

Options แบ่งตามลักษณะการใช้สิทธิได้ 2 แบบ คือ

1.Call Options สัญญาที่ผู้ซื้อมีสิทธิในการ ‘ซื้อ’ สินทรัพย์

2.Put Options สัญญาที่ผู้ซื้อมีสิทธิในการ ‘ขาย’ สินทรัพย์

 

สำหรับใครที่สนใจในการซื้อขายสัญญา Options คุณปวริศวร์ ก็ได้แชร์วิธีซื้อขายและแนะนำกลยุทธ์บางส่วนไว้ดังนี้

  • Long Call Options เมื่อคาดว่าราคาจะมีการปรับตัวขึ้นมาก ๆ เพราะยิ่งราคาปรับขึ้น ผู้ซื้อก็ยิ่งมีกำไร แต่ถ้าหากราคาปรับลง แม้จะขาดทุนแต่ก็ขาดทุนไม่เกินค่าพรีเมี่ยมที่เสียไป สรุปว่า จะ Long Call ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนคิดว่าตลาดมีแนวโน้มขาขึ้น
  • Long Put Options เมื่อคาดว่าราคาจะมีการปรับตัวลงมาก ๆ ผู้ซื้อ Put Options สามารถใช้สิทธิประโยชน์เพื่อรับผลตอบแทนจากการที่ราคาปรับตัวลง ยิ่งราคาปรับลงมาก ก็ยิ่งได้กำไรมากยิ่งขึ้น สรุปว่า จะ Long Put ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนคิดว่าตลาดมีแนวโน้มขาลง
  • Short Call Options คาดว่าราคามีโอกาสจะปรับตัวลงมากกว่าจะขึ้น ถ้าตลาดไม่ปรับตัวไปไหนจริง ทางฝั่งผู้ที่ซื้อ Call Options ก็จะไม่ใช้สิทธิ และผู้ขาย Call Options ก็จะได้รับค่าพรีเมี่ยมตามแผนที่วางไว้

 

  • Short Put Options คาดว่าราคามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นมากกว่าจะลง ถ้าตลาดไม่ปรับตัวไปไหนจริง ทางฝั่งผู้ที่ซื้อ Put Options ก็จะไม่ใช้สิทธิ และผู้ขาย Put Options ก็จะได้รับค่าพรีเมี่ยมตามแผนที่วางไว้เช่นกัน
  • Long Call Spread เป็นการ Long Call และ Short Call ที่มี Strike Price ไม่เท่ากัน โดยมองว่าตลาดจะขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งการที่เรา Short Call เพิ่มเข้าไปด้วย จะทำให้ต้นทุนค่า Premium ที่เราจ่ายไปน้อยลง แต่ก็แลกกลับมาด้วยการจำกัดกำไรขาขึ้นเช่นกัน

 

  • Long Put Spread เป็นการ Long Put และ Short Put ที่มี Strike Price ไม่เท่ากัน โดยมองว่าตลาดจะลงเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกันการ Short Put เราจะรับ Premium เข้ามาด้วย ทำให้ต้นทุนค่า Premium ที่เราจ่ายตอน Long Put น้อยลงตาม แต่ก็ทำให้เราจำกัดกำไรในขาลงเช่นกัน

 

  • Long Straddle กลยุทธ์นี้จะใช้เมื่อเราคิดว่าราคาจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (แต่ไม่สนใจทิศทางว่าจะขึ้นหรือลง) สามารถทำได้โดย Long Call Options และ Long Put Options ที่ Strike Price เดียวกัน ซึ่งจะขาดทุนได้มากที่สุดเท่ากับค่า Premium ของทั้ง Call และ Put ที่ซื้อไปรวมกัน

 

  • Short Straddle หากคาดว่าตลาดจะเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบไม่ไปไหน สามารถทำกลยุทธ์นี้ได้โดย Short Call Options และ Short Put Options ที่ Strike Price เดียวกัน เป็นการเก็บค่า Premium มาก่อน แต่หากตลาดวิ่งแบบมีทิศทาง ผู้ลงทุนมีโอกาสขาดทุนอย่างไม่จำกัดได้

 

ข้อคิดทิ้งท้ายก่อนจบหัวข้อนี้ คุณปวริศวร์ ได้ฝากให้กับนักเทรดมือใหม่เช่นกัน การเทรด Options ต้องดูค่า Implied Volatility ประกอบด้วย เป็นค่าความผันผวนของตลาด ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ราคา Options สูงหรือต่ำกว่าปกติได้ โดยผู้ลงทุนสามารถคำนวณได้จาก Options Calculator ที่ www.TFEX.co.th (มุมผู้ลงทุน)

 

ต่อด้วยท่านที่สาม ในหัวข้อ ‘สร้างระบบ Money Management ให้พอร์ตด้วย Robot Trade’ โดย คุณเดชธนา ฟางสะอาด ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์รายย่อย บล. คันทรี่กรุ๊ป ด้วยกระแสปัจจุบันที่หลายอย่างกำลังก้าวสู่โลกแห่ง Digital อย่างเต็มรูปแบบ ตัวช่วยการเทรดอย่าง Robot ก็เข้ามาช่วยให้ระบบการคิด การทำงานของมนุษย์นั้นสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งในตลาดปัจจุบัน ได้เริ่มนำ Robot เข้ามาทำงานแทนวิธีการซื้อขายแบบเดิม เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

 

โดยเนื้อหาได้เล่าถึงข้อดี, ข้อจำกัดในการใช้ Robot Trade การควบคุมความเสี่ยงของพอร์ต และคำแนะนำสำหรับผู้ลงทุนและผู้สนใจ

 

ข้อดีของการใช้ Robot Trade

  • ไม่มีความรู้สึก ไม่มีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ไม่มีลังเล ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ได้ 100%
  • ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน รวมถึงสามารถเทรดสินค้าต่าง ๆ ได้พร้อม ๆ กับพิจารณาความเสี่ยงได้ทันทีในเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน
  • มีความเชี่ยวชาญ สามารถทดสอบกลยุทธ์ต่าง ๆ (Black Test) ที่ผู้ลงทุนได้สร้างไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับตัวเอง และยังสามารถเรียนรู้ว่ากลยุทธ์ใดที่ดีหรือไม่ดีได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะลดความเสียหายในการลองผิดลองถูกจากสถานการณ์จริง

 

ข้อจำกัดของการใช้ Robot Trade

  • ใช้ข้อมูลอดีตในการทดสอบ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นการยืนยันผลตอบแทนในอนาคต
  • เนื่องจากสามารถปรับแต่งทำกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ การที่ปรับแต่งมากเกินไปหรือ Overfitting อาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีมากใช่ช่วงเวลาหนึ่งที่ทดสอบ ซึ่งอาจนำมาใช้จริงในระยะยาวไม่ได้
  • มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การเขียนโปรแกรมหรือการดูแลรักษาระบบ

 

‘แล้ว Robot Trade แตกต่างจาก Manual Trade อย่างไร’

การเทรดด้วยตัวเองจะได้เรียนรู้ตลาด รู้วิธีเอาตัวรอดในสนามจริง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากหากเราเข้าใจจริง แต่ต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน ต้องมีการบันทึกผล และต้องไม่มองข้ามความเสี่ยงด้านการจัดการเงินหน้าตัก ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำไปต่อยอดให้กับการพัฒนา Robot Trade ได้

 

ก่อนจบหัวข้อนี้ คุณเดชธนา ได้ทิ้งท้ายให้ผู้ลงทุนทุกคนว่า ‘ทุกการซื้อขายล้วนมีข้อดี’ ปัญหาของการเทรด ไม่ได้อยู่ที่ว่าเทรดแบบใดดีกว่า หากแต่เป็นการขาดวินัยของตัวผู้ลงทุนเอง ดังนั้น หากอยากรู้ ก็ต้องเริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจถูกหรือผิด ทุกอย่างล้วนสอนให้ตัวเรามีประสบการณ์

 

รับชม สัมมนาพิเศษ

“Unlock Your Trade : ปลดล็อกความคิด พิชิตกำไรใน TFEX” ย้อนหลังได้ที่

https://setga.page.link/fv5hGe4ZPxxUBc3w6

 

ศึกษาเกี่ยวกับ Robot Trade ได้ที่ https://www.tfex.co.th/th/education/trading_tools/trading_tools_4.html

 

#TFEX #SpecialLive #ครบรอบ15ปีTFEX #TFEXก้าวสู่ปีที่16