EIC วิเคราะห์ “ถุงมือยางไทย : โอกาสในปี 2021 และความท้าทายหลัง COVID-19”

382

·         การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซีย โดย EIC มองว่า ในปี 2021 จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอย่างน้ำยางข้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางในปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับขึ้นราคาขายถุงมือยาง และรักษาอัตรากำไรไว้ได้

·     สำหรับในปี 2022 เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งแม้จะยังคงมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากอยู่ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นการใช้ถุงมือยาง 2 คู่/ผู้ได้รับวัคซีน 1 คน ขณะที่การใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 จะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และยืดเยื้อมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 และ 2021 และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก

·     สำหรับในระยะต่อไป การบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาขายถุงมือยางถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับราคาขายถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำได้ยากมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มอยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 360,000 ล้านชิ้น ประกอบกับในเดือนมีนาคม 2021 COVID-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงในปีนี้ นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการผลิตและส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดโลก โดยในไตรมาสแรกของปี 2021 ปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 6,494 ล้านคู่ ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 1,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 230% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 นับเป็นการขยายตัวอย่างโดดเด่นต่อเนื่องจากปี 2020

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา U.S. Customs and Border Protection (CBP) ได้ประกาศยุติการนำเข้าถุงมือยางจากทุกโรงงานของบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซีย และของโลก จากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน หลังจากที่ในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา CBP ได้ประกาศยุติการนำเข้าถุงมือยางจาก 2 โรงงานของบริษัท Top Glove มาแล้ว จากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ การทำงานที่เป็นอันตราย สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม EIC มองว่า สถานการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นอานิสงส์ให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 เป็นต้นไป และมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางในสหรัฐอเมริกาได้ จากปัจจุบันที่สหรัฐอเมริกานำเข้าถุงมือยางจากไทยคิดเป็นสัดส่วน 15% ของปริมาณการนำเข้าถุงมือยางโดยรวม

ผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2020 ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตไทย และมาเลเซียที่เร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และสำหรับในปี 2021 นี้ ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยก็ยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตถุงมือยางของไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านชิ้น และจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม ณ สิ้นปี 2021 ไม่ต่ำกว่า 56,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 22% จากปี 2020 ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางรายใหญ่ของไทยแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมาจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ทั้งไทย และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผลิตถุงมือยางในไทยมากขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกันบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซีย และของโลก ก็ขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้
คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 110,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 21% จากปี 2020 เช่นเดียวกับ Hartalega ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 63,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 43% จากปีก่อนหน้า การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ดังกล่าว จะส่งผลให้กำลังการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียโดยรวมในปี 2021 ไม่ต่ำกว่า 250,000 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่ากว่า 60% ของความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2021

EIC มองว่า ในปี 2021 จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบน้ำยางข้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับขึ้นราคาขายถุงมือยาง และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2020 ที่อยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์ลดลง

โดยสัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตยางยานหาหนะของไทยในปี 2020 ลดลงมาอยู่ที่ 49% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ จากในอดีตที่สัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตยางยานหาหนะของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ สวนทางกับความต้องการนำน้ำยางข้นไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้สัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตถุงมือยางของไทยในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 10% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ

ทั้งนี้ความต้องการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางที่มากขึ้นดังกล่าว ยังไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำยางสดในปี 2020 เนื่องจากภาวะหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์ลดลง และมีการแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางแทน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำยางข้นในปี 2020 ปรับตัวสูงขึ้น โดยนอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้ถุงมือยาง
ที่ขยายตัวแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคายางพาราในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ทำให้ความต้องการใช้ยางพาราเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามมา

EIC มองว่า ราคาน้ำยางข้นในปี 2021 จะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้อีกมาก โดยราคาเฉลี่ยล่าสุดในเดือนมีนาคม 2021 อยู่ที่ 50.1 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2020 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.8 บาท/กก. ซึ่งสถานการณ์ราคาน้ำยางข้นที่ปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า ในปี 2021 นี้ จะยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอย่างน้ำยางข้น แต่ตลาดโลกก็ยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการถุงมือยางยังสามารถปรับราคาขายถุงมือยางขึ้นได้ และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ สะท้อนได้จากราคาส่งออกถุงมือยางไทย ที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำยางข้นถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการถุงมือยางในปีนี้ โดยปริมาณผลผลิตยางพาราไทยในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2020 ที่ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และนำมาซึ่งความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำยางข้น ซึ่งยังเป็นที่ต้องการทั้งสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตถุงมือยางในประเทศ และการส่งออกในรูปวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตถุงมือยางในมาเลเซีย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับในปี 2022 เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ในเดือนมีนาคม 2021 COVID-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบกับปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว ตามการยกระดับบริการภาคสาธารณสุขทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้ถุงมือยางในกระบวนการผลิตสินค้า

อย่างไรก็ดี จากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหลายประเทศในปีนี้ น่าจะส่งผลให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มบรรเทาลง โดย EIC มองว่า ในปี 2022 เป็นต้นไป ความต้องการใช้ถุงมือยางจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้สำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งแม้จะยังคงมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากอยู่ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นการใช้ถุงมือยาง 2 คู่/ผู้ได้รับวัคซีน 1 คน ขณะที่การใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 จะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และยืดเยื้อมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 และ 2021 ซึ่งอยู่ที่ 21% และ 17% ตามลำดับ

สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก รวมถึงการส่งออกถุงมือยางไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน

สำหรับในระยะต่อไป การบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาขายถุงมือยางถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางตามมา ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในไทยที่มีมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้งซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำยางสดลดลง และฝนตกหนักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง จะยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำยางสดรุนแรงขึ้น และดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่การปรับราคาขายถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำได้ค่อนข้างยากในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน ข้อจำกัดดังกล่าวจะทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการถุงมือยางลดลง แตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ถึงปี 2021 ซึ่งแม้ราคาน้ำยางข้นปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ถุงมือยางที่ขยายตัว และราคายางพาราในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) โดยผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียสามารถปรับเพิ่มราคาถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

อีกทั้ง ในระยะต่อไป หากการแข่งขันส่งออกถุงมือยางในตลาดโลกรุนแรงมากขึ้นในระดับที่เกิดภาวะการแข่งขันด้านราคา แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจยิ่งซ้ำเติมให้ถุงมือยางไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกถุงมือยางให้กับมาเลเซียได้ โดยค่าเงินริงกิตมาเลเซียเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสะสมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา นับเป็นความท้าทายต่อการส่งออกถุงมือยางไทยที่สำคัญในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางของผู้ประกอบการไทยควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไป หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยผู้ประกอบการถุงมือยางอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตถุงมือยางประเภทอื่น ๆ เช่น ถุงมือยางสำหรับภาคอุตสาหกรรม ถุงมือยางสำหรับครัวเรือน นอกเหนือไปจากถุงมือยางทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติถุงมือยางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทนความร้อนหรือสารเคมีได้ดีขึ้น ลดความอับชื้นระหว่างสวมใส่ รวมไปถึงการปรับสูตรการผลิตเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่แพ้สารโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถุงมือยางได้

นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers : NBTs) ที่ประเทศคู่ค้าอาจหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า ก็เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าในอนาคต เช่น ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ที่สหรัฐอเมริกาได้ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแบนการนำเข้าถุงมือยางจากผู้ประกอบการบางรายในมาเลเซียแล้ว รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน