มิติหุ้น– บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2564 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 782 ล้านบาท กำไรสุทธิ 131 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 189 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมส่งซิกเล็งหาโอกาสลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) เสริมศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ต่อยอดก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น และการรับรู้รายได้จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม และส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมีจำนวน 189 ล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้า Gheco-One ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2564 ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคนั้นมีการเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากบริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศ และต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขี้น 12 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสาเหตุหลักที่มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น
เนื่องจากบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการ lockdown จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19ดังกล่าว ทำให้ปริมาณการใช้น้ำของกลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงดำเนินการปกติอย่างต่อเนื่อง กอปรกับมีความต้องการใช้น้ำจากลูกค้ารายใหม่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และการนำน้ำเสียมาบำบัดและใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ Reclamation Plant ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปผลิตเป็น Demineralized Water และ Premium Clarified Water
สำหรับจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าแล้ว โครงการดังกล่าวยังเป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งด้านการบริหารจัดการต้นทุนการจัดหาน้ำของบริษัทฯ รวมถึงการลดการพึ่งพิงน้ำดิบจากแหล่งน้ำอื่นอีกด้วย ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 203 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคว้างานโครงการโซลาร์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 1ปี 2564 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 61 เมกะวัตต์ และสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 594 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 โดยในไตรมาสแรก บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งสิ้น 122 ล้านบาท เติบโต 1,668% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย ล่าสุดบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดใช้งานระบบซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (P2P Energy Trading Platform) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ควบคู่ไปกับการเตรียมติดตั้งเพื่อทดสอบระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) บนโรงกรองน้ำของบริษัทฯ ซึ่งจากแผนการต่อยอดทางธุรกิจดังกล่าว นอกจากเป็นการตอกย้ำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงานแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบริษัทฯ ในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำเสนอให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าประเภท conventional ว่า ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนเป็นระยะเวลา 37 วันของโรงไฟฟ้า Gheco-One ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้โรงไฟฟ้าได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายจาก EGAT ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้า Gheco-One ในไตรมาสที่ผ่านมานี้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จและกลับมาดำเนินการตามปกติ โรงไฟฟ้าจะได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งกำไรจาก โรงไฟฟ้า Gheco-One ในช่วงที่เหลือของปีฟื้นตัวดีขึ้น
ในขณะที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ อาทิ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และโรงไฟฟ้า CCE ในไตรมาสนี้เติบโต 35% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่น ทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ต่างๆ ในการเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค
www.mitihoon.com