QTC ปรับกลยุทธ์สายผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า-เทรดดิ้ง ลุยประมูลงานกฟภ.- กฟน. – มั่นใจปีนี้แตะ 1,200 ลบ.

81

บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ปรับเกมกลยุทธ์เชิงรุกธุรกิจ ทั้งหม้อแปลงและเทรดดิ้ง ต่อเนื่อง เดินหน้าลุยประมูลงานกฟภ.- กฟน.มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท เชื่อจะคว้างานประมูลเข้าพอร์ตไม่ต่ำกว่า10% ของมูลค่ารวม หนุนยอดBacklog ในมือเพิ่ม มั่นใจรายได้ปีนี้แตะ 1,200 ล้านบาท    

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชนหรือ QTC ผู้ผลิตจัดจำหน่าย และให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้าเปิดเผยถึง แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 1/2564 ว่า บริษัทฯ วางแผนกลยุทธ์เชิงรุกทางธุรกิจในการเจาะตลาดธุรกิจเทรดดิ้ง ภายใต้การเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ ให้กับ LONGI Solar การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีความต้องการต่อเนื่องในภาครัฐและเอกชน จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องปรับกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะคว้างานประมูลดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่างานดังกล่าว  และคาดว่าภายในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ จะทยอยประกาศผลการประมูลงานดังกล่าวออกมา ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มียอดมูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 300 กว่าล้านบาท หนุนรายได้รวมทั้งปีแตะระดับ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

QTC  มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการแบบเชิงรุกมากขึ้นทั้งการขายหม้อแปลงไฟฟ้า การขายแผงโซลาร์เซลล์ และ อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น ทำให้ในช่วงต้นปี บริษัทฯ มีออเดอร์ส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้า Super Low Loss ให้กับการไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว         (สปป.ลาว) จำนวน 421 เครื่อง มูลค่ารวม 60 กว่าล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสแรกปีนี้แล้วบางส่วน ”

 หม้อแปลง Super Low Loss จะมีจุดเด่นคือการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน หันมาให้ความสำคัญกับหม้อแปลงในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่  กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการชะลอตัวซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวแปรทำให้ภาคการลงทุนและภาคบริโภคชะงัก แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้

สำหรับภาพรวมธุรกิจหม้อแปลงในประเทศนั้น ยังคงมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะชะลอบางโครงการออกไปบ้าง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิค-19 แต่ภาคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านพลังงานก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยจะเห็นจากการเปิดประมูลงานของภาครัฐที่ทยอยออกมา อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เริ่มเห็นความชัดเจน และจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกในเร็วๆนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นผลเชิงบวก ที่ทำให้เกิดความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2564 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 233.77 ล้านบาท ลดลง 3.77 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 237.54 ล้านบาท ลดลง 1.59และมีกำไรสุทธิ จำนวน 22.63 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการจําหน่ายกระแสไฟฟ้าของบริษัทย่อย บจ. คิวโซลาร์ 1 ซึ่งมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 8.6 MW รับรู้รายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ 

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยเฉพาะรายได้ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งมอบงานและการติดตั้งหม้อแปลงต้องเลื่อนออกไป แม้ว่าบริษัทฯ จะมียอดออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจเทรดดิ้ง ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธในการขายใหม่ ซึ่งจะทำให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น