สิงห์ เอสเตท’ พลิกกำไร 70 ล้านบาท เดินหน้าลงทุนเสริมแกร่ง มั่นใจปีนี้เติบโตต่อเนื่อง

118

มิติหุ้น –  บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีรายได้รวม 1,306 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้รายได้รวมดังกล่าวแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่พักอาศัย (Residential development)  486 ล้านบาท, ธุรกิจอาคารสำนักงาน (Commercial) 249 ล้านบาท, ธุรกิจโรงแรม (Hospitality) 544 ล้านบาท, และธุรกิจอื่นๆ 27 ล้านบาท

อนึ่ง การลดลงของรายได้รวมร้อยละ 40 มีสาเหตุหลักจากธุรกิจโรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด และการตัดบริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) (“NVD”) ออกจากงบการเงินรวมของสิงห์ เอสเตท หลังจากธุรกรรมการขายเงินลงทุนใน NVD แล้วเสร็จเมื่อ 6 มกราคม 2564 อย่างไรก็ดี ปัจจัยหน่วงทั้งสองรายการถูกชดเชยบางส่วนด้วยรายได้จากโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส มูลค่าราว 360 ล้านบาท และรายได้เดือนมีนาคม 2564 ของ FS JV Co., Ltd. (“FS JV”) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ห้องพักรวม 2,886 ห้อง ภายใต้แฟรนไชส์แบรนด์ Mercure

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผลประกอบการธุรกิจที่พักอาศัยยังคงเป็นไปด้วยดี การรับรู้รายได้และยอดโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปตามคาดการณ์ โดยรายได้กว่าร้อยละ 74 มาจากโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส สำหรับโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ยังคงมีการส่งมอบห้องชุดต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างสิงห์ เอสเตท กับฮ่องกง แลนด์ จึงทำให้รับรู้ผลประกอบการของโครงการภายใต้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 99 ล้านบาท

ในส่วนของธุรกิจอาคารสำนักงาน สิงห์ เอสเตท สามารถปล่อยเช่าพื้นที่และต่อสัญญากับผู้เช่าเดิมที่สัญญาเช่าหมดอายุได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยโดยรวมขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 90 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ยังคงกดดันผลประกอบการของธุรกิจโรงแรม ทว่า สิงห์ เอสเตท ตระหนักถึงโอกาสในการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจและลดผลกระทบจากวิกฤติโควิดในเวลาเดียวกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มสิงห์ เอสเตท ได้เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวใน FS JV ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ห้องพักรวม 2,886 ห้อง ภายใต้แฟรนไชส์แบรนด์ Mercure ที่ผ่านมา FS JV สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ และช่วยจัดพอร์ตโรงแรมให้สมดุลขึ้นโดยการลดผลกระทบด้านฤดูกาล เนื่องจากมีฤดูกาลท่องเที่ยวที่แตกต่างจากโรงแรมส่วนใหญ่ของกลุ่มสิงห์ เอสเตท

นอกจากนี้การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดให้เดินทางภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งหมดในเดือนมิถุนายน ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ FS JV ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป

“ด้วยศักยภาพโรงแรมส่วนใหญ่ในพอร์ตของ FS JV ผนวกกับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะบังคับใช้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มเติมใน FS JV ที่มูลค่ารายการ 13.75 ล้านปอนด์ในครั้งนี้ มีความเหมาะสมทั้งในด้านทรัพย์สิน เงื่อนเวลา และราคาที่เข้าลงทุน นอกจากนี้สิงห์ เอสเตท เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า FS JV จะเป็นทรัพย์สินชิ้นสำคัญที่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งรายได้ใหม่เพื่อชดเชยรายได้จาก NVD ที่หายไปเท่านั้น แต่จะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวได้อย่างมั่นคง” นางฐิติมา กล่าว

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า 99 ล้านบาท จากการส่งมอบห้องชุดโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ตลอดจนรายการทางบัญชีอื่นๆ ที่ถูกบันทึกตามมาตรฐานการบัญชี สามารถชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ สิงห์ เอสเตท พลิกรายงานกำไรสุทธิ 70 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งเป็นการรายงานกำไรครั้งแรกหลังจากรายงานผลขาดทุนสุทธิ 3 ไตรมาสต่อเนื่อง

www.mitihoon.com