เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) รายงานจีดีพีไตรมาส 1/2564 ของไทย หดตัว 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัว 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยการหดตัวลงเมื่อเทียบปีต่อปีสะท้อนผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID ต่อการบริโภค และภาคท่องเที่ยว ทั้งนี้ ทางการได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2564 เป็น 1.5-2.5% จาก 2.5-3.5% ที่เคยคาดไว้เดิม อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออก เป็นขยายตัว 10.3% จากเดิมประเมินไว้ว่าจะเติบโต 5.8% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ สภาพัฒน์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 5 แสนคน
ข้อมูลและประมาณการล่าสุดจากสภาพัฒน์สะท้อนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้แรงหนุนจากภาคส่งออกซึ่งเติบโตสอดคล้องกับวัฎจักรขาขึ้นของการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ท่ามกลางการกลับมาเปิดเมืองของหลายประเทศหลักซึ่งกระจายวัคซีนได้ถึงระดับที่เชื่อว่าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภาวะอุปทานขาดแคลนชั่วคราวในบางกรณี รวมถึงฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ ส่วนภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทยโดนซ้ำเติมอย่างบอบช้ำจากการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันซึ่งรุนแรงและมีแนวโน้มยืดเยื้อขณะที่การจัดหาและกระจายวัคซีนล่าช้า ตอกย้ำว่าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ตลาดแรงงานเปราะบาง โดยการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐจะสามารถช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
เมื่อพิจารณาในบริบทของอัตราแลกเปลี่ยน จากมุมดุลบัญชีเดินสะพัด เงินบาทได้แรงหนุนน้อยลงมากจากรายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป (กราฟด้านล่าง) ยิ่งไปกว่านั้น จังหวะเวลาที่คาดว่าจะสามารถเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอนสูง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยบ่งชี้ว่าไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – มีนาคม 2564 รวม 4.6 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลของการขาดดุลบริการอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เรามีมุมมองอย่างระมัดระวังว่าแรงหนุนจากการค้าโลกอาจลดความร้อนแรงลง โดยล่าสุดยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเริ่มชะลอตัวลงในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีหั่นประมาณการบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นเกินดุล ราว 2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากเดิมคาดไว้ว่าอาจเกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากแนวโน้มการเปิดประเทศที่ล่าช้าออกไป แม้เราคาดว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปีบนสมมติฐานที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะอดทนต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ แต่การพลิกฟื้นของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ จะทำให้การกลับมาของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด
Source: Bank of Thailand
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com