มิติหุ้น-วิจัยกรุงศรีมีความเห็นต่อเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่-2.6% YoY คาดทั้งปีขยายตัว 2.0% GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ -4.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และหดตัวน้อยกว่าที่วิจัยกรุงศรีและผลสำรวจ Bloomberg คาดไว้ที่ -3.3% และ -3.6% ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลและการเติบโตเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวอีกครั้ง ผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สองในช่วงปลายปี 2563 บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากมาตรการเยียวยาของรัฐช่วยพยุงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมิให้ทรุดแรง
วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็นขยายตัว 2.0% จาก 2.2% ผลกระทบจากการระบาดระลอกสามมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน โดยจากแบบจำลองสถานการณ์การระบาดล่าสุด (ข้อมูลถึงวันที่ 17 พฤษภาคม) คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันกว่าจะปรับลดลงมาต่ำกว่า 100 ราย อาจเป็นในช่วงเดือนสิงหาคม ช้าลงจากเดิมเคยคาดไว้ต้นเดือนกรกฎาคม ดังนั้น กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนอาจถูกจำกัดมากขึ้น รวมถึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปีนี้มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 3.3 แสนคน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่หดตัวน้อยกว่าคาด การขยายตัวของภาคส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลัก และหนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยลดแรงกระทบจากผลเชิงลบที่เพิ่มขึ้นในการคาดการณ์ล่าสุด ทางด้านสภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เป็น 1.5- 2.5% จากเดิมคาด 2.5-3.5%
ทางการปรับเป้าหมายการจัดหาและการฉีดวัคซีน ขณะที่วิจัยกรุงศรีประเมินสถานการณ์การระบาดเลวร้ายกว่าเดิม การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (วันที่ 12 พฤษภาคม) มีมติในประเด็นสำคัญดังนี้
- ปรับเพิ่มจำนวนการจัดหาวัคซีนเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 (จากเดิม 100 ล้านโดส ในปี 2564)
- ปรับแนวทางการฉีดวัคซีนเป็นการปูพรมฉีดเข็มแรกแก่ประชาชนให้มากที่สุด (จากแผนฉีดให้ครบคนละ 2 โดส จำนวน 50 ล้านคน)
- เร่งการเจรจาจัดหาวัคซีนให้ได้จำนวนมากที่สุดและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดและความรุนแรงของโรค
จากการพบการระบาดเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วิจัยกรุงศรีได้ทบทวนประมาณการแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันอีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลล่าสุดถึง ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จำแนกเป็น 3 กรณีด้วยกัน คือกรณีแรก หากสามารถคุมการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ได้ (เส้นสีเหลือง) จำนวนสูงสุดของผู้ติดเชื้อใหม่จะยังอยู่ในเดือนพฤษภาคม (เช่นเดียวกับคาดการณ์เดิม) แต่กว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 100 รายต่อวันล่าช้าขึ้นเป็นปลายเดือนกรกฎาคม (จากเดิมต้นเดือนกรกฎาคม) กรณีที่สอง หากไม่สามารถคุมการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ได้ (เส้นสีส้ม) จำนวนสูงสุดของผู้ติดเชื้อจะอยู่ราวปลายเดือนพฤษภาคม และจะใช้เวลามากขึ้นกว่าจะปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 100 รายต่อวัน เป็นในปลายเดือนสิงหาคม และกรณีเลวร้ายสุด หากมีการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ (เส้นสีแดง) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงขึ้นแตะระดับ 3 แสนกว่ารายในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดความเป็นไปได้ของสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในช่วงระหว่างกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 (อยู่ระหว่างเส้นสีเหลืองและสีส้ม)
ในส่วนของเศรษฐกิจโลก แม้อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นในสหรัฐฯและจีนแต่คาดว่าธนาคารกลางยังใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไป ส่วนการฟื้นตัวของญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ วิจัยกรุงศรีมองว่าเฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ส่วนแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและยังห่างจากเป้าหมายระยะยาว ตลาดแรงงานสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนการเปิดรับสมัครงานเดือนมีนาคมแตะ 8.12 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พฤษภาคมลดลงสู่ระดับ 4.73 แสนรายต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
เศรษฐกิจสหรัฐฯทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม วิจัยกรุงศรีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวทั้งจากฐานต่ำในปีก่อน ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวขึ้นจากการชะงักงันของอุปทานหลังจากกลับมาเปิดการผลิต ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากภาคบริการกลับมาดำเนินการตามปกติ แต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะไม่เป็นอุปสรรคต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเฟดที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและยังห่างจากเป้าหมายระยะยาวของเฟด ดังนั้น จึงคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2566
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเผชิญกับความไม่แน่นอนท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังรุนแรง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 6.2% YoY สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ขณะที่ผลการสำรวจความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนลดลงสู่ระดับ 39.1 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยยอดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียง 4.8% MoM ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
การปรับตัวดีขึ้นของตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคมยังไม่สะท้อนผลจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ขณะที่ตัวเลขในเดือนเมษายนบ่งชี้ว่าภาคเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบ ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินโดยเพิ่มพื้นที่ออกไปครอบคลุม 9 จังหวัด (เดิม 6 จังหวัด) และขยายช่วงเวลาจากวันที่ 25 เมษายนไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับ 7,521 รายสูงสุดนับจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ล่าสุดผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่ถือเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยืนยันว่าธนาคารจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ผ่านกองทุน Exchange Traded Fund ในมูลค่าที่สูงพอหากมีเหตุจำเป็น สะท้อนว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงแนวนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป
คาดธนาคารกลางจีนคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงจากการเก็งกำไร ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 0.9% YoY สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวขึ้นถึง 6.8% สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่ยอดขายรถยนต์เดือนเมษายนเติบโต 8.6% ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ด้านยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 11.7% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อน
อัตราเงินเฟ้อซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวทั้งฐานต่ำเทียบจากปีก่อนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อการทยอยกลับมาเปิดการผลิต คาดว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป พร้อมกับการใช้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในบางภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจมีความเสี่ยงจากการเก็งกำไร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจรายย่อย รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สะท้อนว่า PBOC จะมุ่งเน้นมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดแบบเจาะจงเป้าหมายเพื่อกำกับเฉพาะภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงยิ่งขึ้น ขณะที่ยังคงแนวทางนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
www.mitihoon.com