สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงไวรัสสายพันธุ์ใหม่ฉุดรั้งการบริโภค

163

มิติหุ้น – ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การเข้ามาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์อินเดียอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงและยืดเยื้อนานกว่าที่คาดไว้ คนระมัดระวังการเดินทางและขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย จากเดิมคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดและเร่งตัวระดับใกล้เคียงปกติในไตรมาส 3 อาจเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 4 ซึ่งจะฉุดรั้งให้การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอ ทางสำนักวิจัยฯ จึงได้ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 2.2% เป็น 1.9%

“นักเศรษฐศาสตร์เดินดินอย่างผมได้ออกไปซอกแซกตามร้านค้า พบว่าคนบางตา ร้านเปิดน้อยลง ลูกค้าก็น้อยลง จากการพูดคุยกับเจ้าของร้าน หลายร้านเลือกที่จะปิดร้านเพราะขายแล้วขาดทุน ต้นทุนสำคัญคือ ค่าเช่าแผงขายของ ที่ผ่านมาเจ้าของใจดีลดค่าเช่าให้บางส่วน แต่หลังจากเปิดเมือง ค่าเช่ากลับไปเท่าเดิม แต่ยอดขายไม่ได้ขึ้นมาเท่าเดิม เพราะการเปิดเมืองยังมีเงื่อนไข และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำให้คนยังกังวลไม่อยากออกจากบ้าน บางร้านปรับตัวโดยขายของออนไลน์ ประหยัดค่าเช่าแผงและค่าเดินทาง แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่ปรับตัวขายออนไลน์ได้ ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ก็ไม่แน่ว่าจะกลับมาขายแผงเดิมได้ไหม เพราะอาจไม่มีพื้นที่เหลือให้กลับมาขาย ดังนั้น ถ้าเราคุมการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ไม่ได้ ปัญหาจะยิ่งลากยาวไปอีก” ดร.อมรเทพ กล่าว

ในด้านภาครัฐนั้น รัฐบาลสามารถเร่งการใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้นผ่านพรก. เงินกู้ 5 แสนล้าน โดยเราคาดหวังมาตรการพยุงกาลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผ่านเงินโอนประเภทต่างๆ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีคนรายได้ระดับกลาง-บนที่อาจไม่ได้รับผลกระทบต่อรายได้มากนัก แต่ไม่กล้าใช้เงินเพราะขาดความเชื่อมั่น ซึ่งเราอาจเห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากคนกลุ่มนี้หลังประชาชนเริ่มทยอยได้รับวัคซีนและจานวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างชัดเจน ผู้บริโภคจะคลายความกังวลมากขึ้นและมีความเชื่อมั่นในการเดินทางในประเทศและการซื้อสินค้าและบริการ แต่อาจเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้  รัฐบาลสามารถเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนได้มากขึ้นผ่านพรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เราคาดหวังมาตรการพยุงกำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผ่านเงินโอนโครงการต่างๆ ขณะที่มาตรการกระตุ้นกลุ่มคนรายได้ระดับกลาง-บนที่อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบต่อรายได้มากนัก แต่ไม่กล้าใช้เงินเพราะขาดความเชื่อมั่น แต่หลังจากประชาชนทยอยได้รับวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างชัดเจนแล้ว เราคาดหวังจะเห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากคนกลุ่มนี้ และเมื่อผู้บริโภคคลายความกังวล มีความเชื่อมั่นที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการเดินทางในประเทศ สำนักวิจัยฯ คาดว่าจะเห็นกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

อีกหนึ่งปัจจัยบวก คือ การส่งออก การฟื้นตัวของสหรัฐและจีนจะส่งผลให้การส่งออกไทยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าน่าจะขยายตัวสูงกว่า 16% ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเคมีภัณท์ กลุ่มผลิตภัณท์ยางพารา และกลุ่มอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี ต้องเฝ้าจับตาว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จะไม่ลามไปยังสหรัฐและจีนเพราะจะเป็นผลลบต่อการส่งออกของไทย

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะขาดดุลสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 จากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เร่งตัวแรงตามการส่งออก ประกอบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำ อีกทั้งมีเงินโอนไปต่างประเทศมาก ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีน่าจะเกินดุลในระดับที่ต่ำมาก ผู้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนควรระวังเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงครึ่งหลังของปี ตามความกังวลของความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่า ประกอบกับความผันผวนของตลาดทุนตามการถอนมาตรการ QE ในสหรัฐ อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มากขึ้นและตลาดทุนเริ่มรับรู้ข่าวและคลายความกังวลต่อมาตรการถอน QE ของสหรัฐ

ดร.อมรเทพ เปิดเผยว่า หากรัฐบาลสามารถจัดสรรและฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามแผนปีนี้ และวัคซีนมีประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดได้ เศรษฐกิจไทยเร่งตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้สูงถึง 5.1% จากการบริโภคในประเทศที่เร่งตัวขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเร่งตัวแรงในปีหน้าเช่นกัน

www.mitihoon.com