มิติหุ้น – นายธวัชชัย อิงบุญมีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น “WEALTHI” หรือ เวลธ์ติ ที่ได้รับใบอนุญาตแก้ปัญหาสินเชื่อรายย่อย หรือ พิโกไฟแนนซ์ จากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 / 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP จากตัวเลขดังกล่าว WEALTHI ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อ มองว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอาจสูงถึง 91-92% ต่อ GDP เพราะผลการสำรวจดังกล่าวไม่รวมหนี้นอกระบบ, หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งหากรวมตัวเลขเหล่านี้เข้าไปแล้วก็จะสูงขึ้นจากตัวเลขที่รายงาน อย่างไรก็ตาม มองว่าตัวเลขในส่วนหนี้ครัวเรือนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังมีนโยบายออกใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นบริการด้านการเงินที่จะเข้าถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางการเงินจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ดังนั้นหากผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ก็จะทำให้ทราบถึงตัวเลขหนี้ที่แท้จริงและจะสามารถหาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด
ทั้งนี้ WEALTHI ได้เข้าไปมีส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยแล้วกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งช่วยลดภาระดอกเบี้ย รวมทั้งยังทำให้เกิดวินัยทางการเงินมากขึ้น โดย WEALTHI ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ผู้บริโภคยังติดอยู่ในวังวนหนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการหนี้ส่วนบุคคล ดังนั้น WEALTHI จึงออกแคมเปญ “ความรู้แลกดอกเบี้ย” เพื่อช่วยเพิ่มความรู้ และช่วยลดภาระดอกเบี้ยในคราวเดียวกัน เมื่อผู้ใช้งานเข้าไปอ่านบทความด้านการบริหารการเงินในแอปพลิเคชั่น WEALTHI ระบบจะทำการเก็บคะแนนความรู้ทางการเงิน และคะแนนดังกล่าวสามารถนำไปช่วยลดดอกเบี้ยของผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น WEALTHI ได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ที่เป็นหนี้มีความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น และมีกำลังใจจะเข้าไปหาความรู้บ่อยขึ้น เนื่องจากช่วยให้ลดต้นทุนทางการเงินได้
“เราจะทราบได้อย่างไรว่าตัวเลขที่แท้จริงของหนี้ครัวเรือนเป็นเท่าไหร่ เราทำได้เพียงแค่คาดคะเนเท่านั้น หนี้ครัวเรือนที่เป็นตัวเลขจริง ๆ คิดว่าจะต้องประมาณ 91-92% ของ GDP ไปแล้ว อันนี้ยังไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้กยศ. ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะกระโดดสูงขึ้นอีกสักระยะ เพราะการย้ายฐานจากนอกระบบเข้ามาในระบบกำลังเกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐที่ออกใบอนุญาต ทั้งนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558-2559 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างหนึ่งเลย ก็คือการใช้เทคโนโลยีบนมือถือมาปล่อยสินเชื่อ แปลว่าเราจะเห็นหนี้ครัวเรือนโตขึ้นอีกอย่างน้อย 1-2% ของ GDP แน่นอน ตัวเลขอีกตัวที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน คือ ต้นทุนการเงินเฉลี่ยของหนี้ครัวเรือน หากบอกว่ามีต้นทุน 5% ต่อปี อันนี้ยังไม่น่ากลัว แต่ถ้ามีต้นทุน 30% ต่อปี อันนี้อาการอาจจะหนัก อย่างไรก็แล้วแต่การแข่งขันของผู้ปล่อยสินเชื่อทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงการเอาเทคโนโลยีมาส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้บริโภคลดต่ำลงแน่นอน” นายธวัชชัย กล่าว