กบข. ร่วมเวทีเสวนาออนไลน์ระดับนานาชาติ ชูธรรมาภิบาลการลงทุน

46

มิติหุ้น – ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมเสวนา หัวข้อ “Corporate Governance in South East Asia: What Investors need to know” จัดโดย Principles for Responsible Investment (PRI) และ The Asian Corporate Governance Association (ACGA)

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.ศรีกัญญา ได้ร่วมเวทีเสวนาออนไลน์กับผู้ทรงความรู้ด้าน ESG ได้แก่  Mr. Jamie Allen เลขาธิการ (Secretary General) จาก The Asian Corporate Governance Association (ACGA) , Mr. Ben McCarron ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ (Founder & Managing Director) จาก Asia Research & Engagement Pte Ltd. ประเทศสิงคโปร์, Ms. Pauline Ng กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตราสารทุน EMAP และ ผู้เชี่ยวชาญตราสารทุน ASEAN (Managing Director, Head of EMAP Equities & ASEAN Equities Specialist) จาก JP Morgan Asset Management, รองศาสตราจารย์ Mak Yuen Teen จาก คณะวิชาธุรกิจ มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ (NUS Business School) โดยมี Ms. Vaishnavi Ravishankar นักวิเคราะห์อาวุโสด้าน ESG (Senior Analyst, ESG) จาก Principles for Responsible Investment (PRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในงานสัมมนาดังกล่าว ดร.ศรีกัญญา ได้กล่าวว่าธรรมาภิบาล (Corporate Governance) สำหรับธุรกิจที่มีรัฐเป็นเจ้าของ (State-owned entities: SOEs) เป็นสิ่งที่สำคัญระดับสูงสุดเพราะธุรกิจของ SOEs เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ระดับพื้นฐานของพลเมืองในประเทศเป็นสำคัญ อาทิ สาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้า การเดินทางคมนาคม ขนส่ง และการสื่อสาร เป็นต้น

SOEs มีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตและการให้บริการ (Value chain of manufacturing and servicing) ที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับผู้บริหารประเทศระดับนักการเมือง กระทรวง ทบวง กรม คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานรัฐ ผู้บริหารกิจการ NGOs และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหากระบบและกลไกธรรมาภิบาลไม่เข้มงวดและรัดกุมก็จะทำให้เกิดปัญหาของ SOEs นั้นในที่สุด

ด้วยลักษณะของ SOEs ที่มีความหลากหลายตั้งแต่ให้บริการฟรี คิดค่าบริการเล็กน้อย จนถึงระดับเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) จัดตั้งมาเพื่อแสวงหารายได้และทำกำไร SOEs จึงอาจได้รับความสนใจในระดับน้อยสุด (passive ownership) จากรัฐ จนถึงระดับแทรกแซงสูงสุด (Excessive state intervention)

เพื่อป้องกันมิให้ SOEs ขาดธรรมาภิบาลในการบริหารและกำกับดูแล ดร.ศรีกัญญา กล่าวว่า สามารถทำได้ใน 3 แนวทาง คือ 1) กำหนดภารกิจเป้าหมายของ SOEs ให้สอดคล้องกับ 17 SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ เพื่อให้ภารกิจของ SOEs มีความชัดเจนและมีเป้าหมายเป็นหน่วยงานเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน 2) กำหนดแนวทางคัดสรรและโครงสร้างบอร์ดให้มีผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงจากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายโครงสร้างอายุ กำหนดเงื่อนไขคณะกรรมการอิสระและกลไกป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) และ 3) กำหนดเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใส (Disclosure and Transparency) โดยเฉพาะรายการที่มีนัยสำคัญ ผลประกอบการ ค่าตอบแทน เป็นต้น

สำหรับธุรกิจครอบครัว (Family-owned entities: FOEs) นั้น ดร.ศรีกัญญา กล่าวว่า เป็นรูปแบบธุรกิจที่มีพัฒนาการที่ต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นหนึ่งในรูปแบบที่มีจุดแข็งด้านความมุ่งมั่นสร้างธุรกิจของผู้ก่อตั้ง ลักษณะเฉพาะของ FOEs ในประเทศไทยคือการผสมวัฒนธรรมไทย-จีน เข้าด้วยกัน เพราะผู้ก่อตั้ง FOEs ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน สิ่งที่เห็นได้ชัดของ FOEs ไทยคืออำนาจในการบริหาร การตัดสินใจและการสืบทอดธุรกิจที่มักกำหนดให้เป็นของทายาทผู้ชายลำดับต้น อย่างไรก็ดี รูปแบบนี้กำลังเปลี่ยนไปเป็นการนำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหาร

ในการตัดสินใจลงทุนใน FOEs นั้น ดร.ศรีกัญญา กล่าวว่า กบข. พิจารณาการบริหารความสมดุลระหว่าง “Family-related Sentimental Values” และ “Entrepreneurial Values” โดย กบข. จะพิจารณาลงทุนเฉพาะในกิจการที่ให้ความสำคัญกับ “Entrepreneurial Values” มากกว่า “Family-related Sentimental Values” เท่านั้น

แนวทางสำคัญที่ กบข. ใช้ประเมิน (Due diligence) กิจการที่ กบข. ลงทุนว่ามีธรรมาภิบาลหรือไม่ คือการทำ Engagement กับกิจการเหล่านั้น สิ่งที่ กบข. ประเมินมี 3 ประการคือ 1) กิจการนั้นมี Corporate Governance Policy commitment หรือไม่ 2) กิจการนั้นมีโครงสร้างและกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายหรือไม่ (Structure and Process alignment) และ 3) กิจการนั้นได้ทำอย่างที่กล่าวในนโยบายและผลของการกระทำสอดคล้องจริงหรือไม่ (Behavior and Results)

“Engagement คือกลไกที่ดีและสำคัญที่สุด กบข. มีนโยบายที่จะทำ Engagement กับกิจการที่เราลงทุนทั้งในลักษณะที่เป็นประจำสม่ำเสมอ (Routine) และเฉพาะกิจ (Ad hoc) เมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ” ดร.ศรีกัญญา สรุป

www.mitihoon.com