เปิดธุรกิจน้องใหม่ “เซนต์เมด” ดาวเด่นที่กำลังฉายแสงในตลาดหุ้น

971

หากจะเอ่ยถึงธุรกิจที่มีความจำเป็นในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยุคโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลก และไม่เว้นแม้ประเทศไทยเชื่อว่าหลายคนคงกำลังนึกถึงธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ในวิกฤตนี้ คงหนีไม่พ้นโรงพยาบาล และแต่ละโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องสั่งอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เข้ามาเพิ่มกันแน่นอน ซึ่งถือว่าจำเป็นอย่างมากยิ่งในช่วงนี้ที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว หรือที่เรียกว่า โรงพยาบาลสนามเครื่องมือแพทย์จึงจำเป็น ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีทีเดียวที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังจะต้อนรับหุ้นน้องใหม่ในกลุ่มนี้พอดี นั่นก็คือ บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ซึ่งดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยบริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปและสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศ

 

เตรียมออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO)จำนวนไม่เกิน 54 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 25.23 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบัน SMD มีทุนจดทะเบียนจำนวน 107 ล้านบาท แบ่งเป็น 214 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 80 ล้าน โดยภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับและลงทุนในเครื่องมือแพทย์ให้เช่า ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการและชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน

เปิด 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วยกันคือ

1.กลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยหนักและห้องฉุกเฉิน เช่น เครื่องช่วยปั๊มหัวใจระบบอัตโนมัติ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบเออีดีและแบบใช้ในโรงพยาบาล เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพพร้อมระบบศูนย์กลางและระบบเทเลเมดิซีน กล้องส่องหลอดลมเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจระบบวีดีทัศน์เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดใช้ข้างเตียงผู้ป่วย และชุดแขวนอุปกรณ์ทางการแพทย์

 

2.กลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและการนอนหลับเช่น เครื่องตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติขณะนอนหลับ เครื่องเฝ้าติดตามความดันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดขณะนอนหลับเครื่องช่วยหายใจซีแพพสำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันสำหรับผู้ป่วยหนัก เครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง เครื่องสั่นสะเทือนผนังทรวงอกเพื่อไล่เสมหะออกจากถุงลม กล้องส่องทางเดินหายใจระบบวีดีทัศน์ และเครื่องฟอกอากาศบริสุทธิ์ ระดับ ISO 1

 

3.กลุ่มสินค้าด้านหทัยวิทยา เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติการทำงานของหัวใจ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีด เครื่องทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพาติดตัว 24 ชั่วโมงเครื่องวิเคราะห์การใช้พลังงานขณะออกกำลังกายเครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกายแบบไร้สายพร้อมชุดออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูหัวใจ และเครื่องวัดอัตราการไหลของเลือดในเส้นเลือดขณะทำการผ่าตัดหัวใจ

 

4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับการใช้งานทั่วไป เช่นโคมไฟผ่าตัด เตียงผ่าตัด โคมไฟทำหัตถการเล็ก เครื่องส่องตรวจตา หู คอ จมูก ชุดใส่ท่อช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย รถเข็นทางการแพทย์ รถเข็นกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน และเครื่องวัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผาก

 

5.กลุ่มสินค้าสมาร์ทฮอสพิทอล เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ทำให้โรงพยาบาลดูทันสมัย และใช้อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในการปฏิบัติงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดการรายงานผลและจดบันทึกด้วยกระดาษ อีกทั้งมีการเชื่อมต่อข้อมูลเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวเข้ากับระบบ Hospital Information System หรือระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ เครื่องวิเคราะห์ดัชนีมวลกาย เครื่องวัดความดันโลหิตที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดดัชนีมวลกาย

 

6.กลุ่มอุปกรณ์ประกอบการใช้งาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบการใช้งานเครื่องมือแพทย์ใน 5 กลุ่มสินค้าดังกล่าวข้างต้น

ผลงานเติบโตต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ขณะที่ด้านผลการดำเนินก็ถือว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและบริการสำหรับปี 2561 ถึง ปี 2563 เท่ากับ 506.03 ล้านบาท 618.63 ล้านบาท และ 660.94 ล้านบาท ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.25 ในปี 2562 และร้อยละ 6.84 ในปี 2563 โดยรายได้จากการขายประมาณร้อยละ 40.19 ถึง 53.09 มาจากสินค้าในกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต (Critical Care) มีฐานลูกค้าหลัก คือ โรงพยาบาลรัฐบาล รองลงมาคือกลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ (Respiration) มีสัดส่วนยอดขายร้อยละ 21.20 ถึง ร้อยละ 35.22 ของรายได้จากการขายซึ่งส่วนใหญ่ผู้ซื้อ ได้แก่ ลูกค้าในกลุ่มนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปสินค้ากลุ่มที่มียอดขายอันดับที่สาม ได้แก่ กลุ่มสินค้าด้านหทัยวิทยา (Cardiology) โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 11.55 ถึงร้อยละ 19.53 ของรายได้จากการขาย อันดับที่สี่ ได้แก่ กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป (General Medical Device) ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.60 ถึงร้อยละ 8.43 ของรายได้จากการขาย โดยในปี 2563 บริษัทมีรายได้ในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 143.58 จากปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผาก (Forehead thermometer) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันดับที่ห้าและหก ได้แก่ กลุ่มสินค้าสมาร์ทฮอสพิทอล (Smart Hospital) และกลุ่มอื่นๆ ตามลำดับ

อัตรากำไรขั้นต้นไม่น้อยกว่า40%

อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2561 ถึง ปี 2563 เท่ากับร้อยละ 42.45 ร้อยละ 41.52 และร้อยละ 41.91 ตามลำดับ ซึ่งบริษัทมีความสามารถในการบริหารอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 42 แม้ว่าสัดส่วนยอดขายสินค้าในแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสำหรับปี 2561 ถึง ปี 2563 เท่ากับร้อยละ 6.03 ร้อยละ 9.66 และร้อยละ 11.76 ตามลำดับ

 

เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 30 ราย

“ซึ่งมีข้อได้เปรียบกับคู่แข่ง ทั้งด้านประสบการณ์ความเชี่ยวชาญการดำเนินงานมานานกว่า 20 ปี จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกกว่า 30 ราย แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางแพทย์ชั้นนำระดับโลก” ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าว

 

นี่คือโอกาสของนักลงทุนที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจด่าวเด่นดวงใหม่ที่มีเสนห์ไม่แพ้หลายธุรกิจที่รับผลดีจากสถานการณ์เช่นนี้ กำลังจะมาเฉิดฉายในตลาดหุ้นเร็วๆนี้

www.mitihoon.com