ttb analytics ประเมินราคาสินค้าเกษตรโลกพุ่งสูง แนะผู้ประกอบการหันมาใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต

270

มิติหุ้น – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิต (ข้าวโพดและถั่วเหลือง) ที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรโลก แต่ราคาขายปรับขึ้นได้น้อย แนะผู้ประกอบการหันมาใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรในประเทศมาใช้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ครึ่งแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ธัญพืชต่างๆ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล ต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ที่มีราคาสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 กว่า 104% และ 79% ตามลำดับ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปี และไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากผลผลิตโลกลดลงจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ภาวะโลกร้อน และภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา อุปสงค์ที่มีเพิ่มขึ้น แต่ห่วงโซ่อุปทานกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ทำให้หลายประเทศประสบกับปัญหาราคาอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่แพงขึ้น จึงเกิดความวิตกกังวลต่อไปว่าภาคครัวเรือน ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว อาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีก

เมื่อย้อนดูราคาสินค้าเกษตรในประเทศไทย พบว่าราคาเฉลี่ยของเนื้อสัตว์และอาหารในปี 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 0.08% ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย (PPI) พบว่าราคาผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.4% จากข้อมูลพอจะทำให้คลายความกังวลในส่วนของภาระฝั่งผู้บริโภคได้ แต่ต้นทุนส่วนของผู้ผลิตเนื้อสัตว์พบว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นของตลาดโลก เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตพืชอาหารสัตว์ได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตามแผนอาหารสัตว์ 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564-2566) ไทยยังต้องการนำเข้ากากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 64% และ 51% ของปริมาณความต้องการทั้งหมดตามลำดับ

นอกจากนี้ ปัจจัยสินค้าประเภทอาหารต่าง ๆ อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมจากภาครัฐ ทำให้การปรับตัวของราคาอาหารไม่ว่าจะเป็นเนื้อสุกร เนื้อไก่ หรือไข่ไก่ รวมไปถึงการกำกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบประเภทพืชในประเทศเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ ถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เมื่อเกิดสภาวะตลาดสินค้าไม่พอเพียง จึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนและรายได้ของธุรกิจ จากสภาวะที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์เพื่อลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสูตรอาหารเป็นวัตถุดิบที่มีราคาต่ำกว่า และพึ่งพาการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ราคาสินค้าเกษตรโลกที่พุ่งสูงขึ้นทำให้วัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์เป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจฟาร์ม โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55-60% ของต้นทุนฟาร์มไก่ และ 20-25% ของต้นทุนฟาร์มสุกร ทำให้ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบพืชสำหรับอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามตลาดโลก

แต่ทว่ายังมีกลุ่มที่ได้รับผลดี คือ เกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดและถั่วเหลือง) ชาวนาผู้ผลิตข้าว และโรงสีที่ได้รับผลพลอยได้จากข้าวทั้งรำละเอียด และปลายข้าว เนื่องจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น และหันมาเพิ่มสัดส่วนการใช้รำละเอียด และปลายข้าว เพื่อลดต้นทุนในการผลิต

จากสถานการณ์ราคาสินค้าวัตถุดิบ สะท้อนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างสินค้าเกษตรไทย ยังจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแผนระยะยาว ในการเป็น เกษตรก้าวหน้า (Advance Agricultural) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายไทย (S-Curve Industry) โดยหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ลดการนำเข้า โดยภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอาหารเชิงพาณิชย์ ไปพร้อมกับการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ผลิตอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ จะทำให้ธุรกิจในซัพพลายเชนแข็งแกร่งขึ้น ช่วยให้รายได้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

www.mitihoon.com