‘SMD’ เข้าเทรดวันแรกปักธงก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เดินหน้าขยายแผนการลงทุนศูนย์ตรวจการนอนหลับ-ธุรกิจให้เช่า รุกสร้างการเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืน

56

บมจ.เซนต์เมด (SMD) โชว์ฟอร์มก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว หลังเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมแห่งการดูแลสุขภาพ พร้อมขานรับนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เดินหน้าขยายแผนการลงทุนศูนย์ตรวจการนอนหลับ-ธุรกิจให้เช่า คาดปี 2564 – 2566 ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านบาท

ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรก (17 มิถุนายน 2564) ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยใช้ชื่อย่อ ‘SMD’ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมั่นใจว่าด้วยศักยภาพของบริษัทฯ และพื้นฐานการดำเนินธุรกิจในการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์มากกว่า 30 ราย แก่ผู้ผลิตชั้นนำในหลากหลายประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปและสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศ ที่จะได้รับประโยชน์จากความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จะสนับสนุนให้ SMD เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ SMD ต้องเร่งปรับตัว สร้างธุรกิจให้มีความพร้อม สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรับนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าการเร่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยวางเป้าหมายรายได้ช่วง 3 ปี (2564-2566) จะเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี

หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ บริษัทฯ วางแผนขยายธุรกิจในปี 2564-2566 คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ จำนวน 90 ล้านบาท โดยร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วางเป้าหมายจะเริ่มโครงการให้ได้อย่างน้อย 8 เตียงตรวจต่อโครงการต่อปี ด้วยงบประมาณเบื้องต้น 15 ล้านบาท ต่อ 4 เตียงตรวจ และมีระยะดำเนินการตามสัญญาไม่น้อยกว่า 8 ปี ซึ่งคาดว่าภายในปี 2566 จะมีเตียงทั้งสิ้น 28 เตียงตรวจ

และ 2. เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ให้เช่า จำนวน 150 ล้านบาท รองรับการขยายตัวทางธุรกิจให้เช่าเครื่องมือแพทย์ในอนาคต โดยจะเน้นโครงการขนาดใหญ่ และเครื่องมือแพทย์พื้นฐาน เช่น เครื่องวัดสัญญาณชีพ เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องให้น้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบสัญญาเช่าต้องไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ระยะเวลาให้เช่าเฉลี่ย 3-5 ปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายหาสัญญาเช่าใหม่ระหว่างปี 2564-2566 ปีละไม่ต่ำกว่า 200-400 ล้านบาท  นอกจากนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากจากระดมทุนใช้ในการชำระคืนหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 60 ล้านบาท โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) หลัง IPO จะลดลงต่ำกว่า 0.5 เท่า จากปี 2563 อยู่ที่ 1.87 เท่า ซึ่งการระดมทุนทำให้มีฐานทุนเพิ่มขึ้นและสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน ทำให้ SMD สามารถจ่ายเงินปันผลตามนโยบายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ รองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SMD เป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพจากจุดเริ่มต้นในการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีฐานรายได้หลักมาจากกลุ่มสินค้าในห้องฉุกเฉิน (ER)+ และห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) รวมถึงเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในแวดวงทางการแพทย์ ส่งผลให้ธุรกิจของ SMD เติบโตสม่ำเสมอ และถือได้ว่าโดดเด่นเหนือกว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

หลังจากนี้ SMD ได้วางแผนขยายการลงทุนด้านศูนย์ตรวจการนอนหลับ ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยหายใจในขณะนอนหลับเป็นจำนวนมาก และยังเป็นโอกาสที่ดีในการรุกขยายเข้าสู่กลุ่มธุรกิจให้เช่าเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภาครัฐ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยได้ง่ายกว่าเดิม ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเร็วขึ้น และถือเป็นการสร้างประโยชน์ไปสู่คนไข้ให้ได้รับการรักษาผ่านเครื่องมือที่ทันสมัยอยู่เสมออีกด้วย

www.mitihoon.com