โรงพยาบาลราชวิถี” นำร่องโครงการ “Ambulance Taxi” (แท็กซี่ฉุกเฉิน)

227

มิติหุ้น – โรงพยาบาลราชวิถี” นำร่องโครงการ Ambulance Taxi” (แท็กซี่ฉุกเฉิน) เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 ลดการแพร่กระจายของโรค  พร้อมประสานผู้ป่วยเดินทาง จากต้นทางสู่ปลายทางทั้ง โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล สถานที่กักตัวกับครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมทั้งร่นระยะเวลารอรถฉุกเฉิน (Ambulance) เพียงอย่างเดียว ปรับโครงสร้างรถเพื่อให้เชื้อโรคจากผู้ป่วยไม่แพร่กระจาย และเหล่าแท็กซี่ฮีโร่ จะได้รับการฝึกฝนด้านความปลอดภัยจากโรงพยาบาล อีกทั้งแท็กซี่ฉุกเฉินถือเป็นระบบความปลอดภัยช่วยผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดการใช้ชุด PPE ซึ่งยังมีความจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤติ โดยชวนคนไทยร่วมบริจาคเป็นทุนให้กลุ่ม Ambulance Taxi ที่ให้บริการฟรีกับผู้ป่วย ผ่านช่องทางรับบริจาคของมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี

นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ต้องบอกว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั้งด่านหน้า เราดำเนินการแบบเต็มกำลังเกิน 100% จนปัจจุบันเราต้องดูแลเคสที่มีความรุนแรงมากที่สุดในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเราพยายามอย่างที่สุด และใช้หลักมนุษยธรรมในการรักษา แต่ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เรามองเห็นว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงที่หมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเขียว หรือเหลือง หรือแม้กระทั่ง จุดกักตัวอื่น ๆ การเดินทางไปยังจุดเหล่านี้ หลายคนต้องใช้เวลารอรถฉุกเฉิน ที่ให้บริการกันตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากผู้ป่วยเดินทางมาเอง โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ก็จะมีความเสี่ยงต่อผู้ที่โดยสารมาด้วยกัน จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นจิตอาสาที่มาช่วยกัน โดยเฉพาะพี่ ๆ แท็กซี่ฮีโร่ ที่ถือเป็นหนึ่งในกำลังการขนส่งผู้ป่วย

นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เราเน้นที่กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระรถฉุกเฉินนเรนทร ที่ให้บริการผู้ป่วยวิกฤติอย่างหนักหน่วงมากในสถานการณ์นี้ เนื่องด้วยจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้นสูงแบบรายวัน โดยรถฉุกเฉินจะใช้ในการรับ-ส่งผู้ป่วยที่มีความวิกฤติขั้นสูง แต่สำหรับ Ambulance Taxi ซึ่งได้รับการฝึกอบรมเรียนรู้การทำความสะอาดรถ การฆ่าเชื้อ และการป้องกันตัวเอง มีการทดสอบระบบความปลอดภัยทุก ๆ 1 สัปดาห์ โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการป้องกันจะเป็นแผ่นกั้นพลาสติกระหว่างผู้ป่วยและคนขับ โดยเน้น 6 มาตรการความปลอดภัย ได้แก่

1) สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างการเดินทาง

2) งดหรือลดการคุยโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

3) ห้ามรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง

4) ไม่พูดคุยกับผู้โดยสารที่ร่วมโดยสารระหว่างการเดินทาง

5) งดการสัมผัสพลาสติกที่กั้นระหว่างผู้นั่งและผู้ขับ

6) ไม่พยายามเคาะเรียกผู้ขับระหว่างการเดินทาง

อีกทั้งแท็กซี่ฉุกเฉินถือเป็นระบบความปลอดภัยช่วยผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดการใช้ชุด PPE ซึ่งยังมีความจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤติอีกด้วย ซึ่งเราคิดเสมอว่าทำอย่างไรที่จะประหยัดทรัพยากรสำคัญให้ใช้ประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์เช่นนี้

โดยเงินที่ได้รับจากการบริจาคจะถูกนำไปช่วยเหลือกลุ่ม Ambulance Taxi รวมไปถึงมอบให้กับกลุ่มรถฉุกเฉินนเรนทร ที่อยู่เคียงข้างในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไม่ย่อท้อ นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย