มิติหุ้น-YLG คงเป้าราคาทองคำระยะยาวที่ 1,960 เหรียญ มองครึ่งปีหลังเข้าไฮซีซั่น จับตานโยบายการเงินของเฟด – โควิด – เงินดอลลาร์และยูโร บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และอุปสงค์ทอง ส่วนในประเทศค่าเงินบาทอ่อนหนุนราคาทองในประเทศพุ่งแรงกว่าตลาดโลก ชี้เป็นจังหวะแบ่งพอร์ตเก็งกำไร
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ผ่านมาแม้ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง 6-7% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประจำเดือนมิ.ย.ที่ส่งสัญญาณเตรียมถอนคันเร่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงิน
แต่ล่าสุดรายงานการประชุมชี้ว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของเฟดที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจ “substantial further progress” สะท้อนว่าเฟดยังคงระมัดระวังในการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่รอบของการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในแต่ละปีจะปรับตัวขึ้นไปในช่วงไตรมาสที่ 3-4 และจะเริ่มปรับลดลงในไตรมาสที่ 1-2 ทำให้อาจเห็นสัญญาณบวกอีกครั้งในครึ่งปีหลัง โดยการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปีนี้ก็ยังถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีเมื่อต้นปี YLG ได้ให้เป้าหมายการเคลื่อนไหวของราคาทองคำไว้ที่ 1,960 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาราคาทองคำก็เข้าไปใกล้เป้าหมายดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถผ่านไปได้ จึงปรับตัวลดลงเพื่อสะสมกำลังอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ YLG ยังมองว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบเป้าหมายดังกล่าวอีกครั้ง หากเฟดยังไม่เร่งถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ หากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้ารุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ในปีนี้ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มจะปรับตัวมากขึ้นราคาทองคำในตลาดโลก เพราะราคาทองคำในประเทศได้รับแรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทองไทยมีลุ้นแตะ 30,400 บาทต่อบาททองคำ หากราคาทองโลกแตะเป้า 1,960 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในครึ่งหลังของปีนี้หลักๆมาจาก 5 ปัจจัยได้แก่
1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีความกังวลเรื่องเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้จะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้ดีพอที่จะทำให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการประชุมของเฟดในแต่ละครั้งจะส่งสัญญาณอย่างไรบ้าง เพราะหากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือ เริ่มต้นลดวงเงิน QE เร็วกว่าคาด จะถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการคาดการณ์เชิงบวกของราคาทองคำ
2. การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา แม้ทั่วจะมีการกระจายวัคซีนอย่างแพร่หลาย แต่การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
3. ค่าเงินสกุลหลัก ทั้งดอลลาร์สหรัฐ และยูโร เป็นสกุลเงินที่มีผลต่อการไหลเข้าออกของเงินลงทุนในตลาดทองคำ โดยราคาทองคำส่วนมากจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับดอลลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับยูโร แต่ก็มีบางครั้งที่ทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดอลลาร์สหรัฐ เช่น กรณีที่นักลงทุนโยกเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งหมายถึง ทองคำ และดอลลาร์สหรัฐ
4.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งหากผลตอบแทนเริ่มลดลงนักลงทุนก็เริ่มประเมินว่าเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีความเสี่ยง และจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย
5. อุปสงค์ทองคำ ทั้งกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก กองทุน ETF ทองคำ อุปสงค์ทองคำกายภาพจากจีนและอินเดีย และแรงซื้อทองคำจากธนาคารกลาง
https://lin.ee/cXAf0Dp