วิจัยกรุงศรีชี้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงขาลงเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดขยับเข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดมากขึ้น

50

มิติหุ้น – วิจัยกรุงศรีรายงานว่า ทางการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเข้มขึ้น กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในไตรมาสสาม ในเดือนมิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 43.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 และลดลงจาก 44.7 เดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 80.3 จาก 82.3 เดือนเมษายน สาเหตุหลักจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสามที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ในระดับสูง และพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ๆ ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความกังวลการฉีดวัคซีนที่ยังมีความล่าช้า

การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เป็นที่น่ากังวล ล่าสุดทางการประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม) โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล (นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฏาคมนี้  ความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงเผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น และกระทบต่อประมาณการ GDP ไทยในปีนี้จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดของแบบจำลองที่วิจัยกรุงศรีประมาณการไว้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันใกล้แตะระดับ 10,000 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ภายใต้สมมติฐานว่าการติดเชื้อของไทยในระยะข้างหน้ามีสาเหตุหลักจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาและเบตา ดังนั้น ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อจึงอ้างอิงจากประเทศอินเดีย และแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคาดการณ์เป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 250,000 โดสต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้ ผนวกกับผลของมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นล่าสุด คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างช้าๆ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม  ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะภายหลังจากเดือนกันยายนซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเป็นอย่างน้อยที่ 25-30 ล้านคน หรือราว  40% ของประชากร 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนชะลอลงต่อเนื่อง คาดครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.25% YoY ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก 2.44%  ในเดือนพฤษภาคม ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแม้ยังปรับตัวสูงขึ้นแต่มีอัตราชะลอลง ประกอบกับยังมีผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐในการปรับลดค่าประปาและค่าไฟฟ้า รวมถึงการลดลงของราคาในกลุ่มอาหารสดหลายชนิด อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.52% จาก 0.49% เดือนพฤษภาคม สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.89% และ 0.27% ตามลำดับ

ในช่วงครึ่งหลังของปี แม้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก แต่การเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังคงรุนแรงและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ  จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12  เดือนจะเพิ่มขึ้นแตะขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป 

เฟดประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังห่างจากเป้าหมาย คาดใช้มาตรการ QE อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังปรับตัวดีขึ้นโดยจำนวนการเปิดรับสมัครงานเดือนพฤษภาคมแตะระดับ 9.2 ล้านตำแหน่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิถุนายนลดสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ 3.34 ล้านราย

เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ IMF เตือนว่าการเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนผ่านมาตรการทางการคลังอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ทางด้านเฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าการฟื้นตัวยังไม่มีความคืบหน้าเพียงพอเมื่อเทียบกับเป้าหมายระยะยาวของเฟด แม้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดแต่เป็นเพียงผลจากปัจจัยชั่วคราว ส่วนความไม่แน่นอนที่เป็นปัจจัยลบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในหลายประเทศ ส่วนประเด็นการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE นั้นยังจำเป็นต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ตลอดปีนี้ แต่อาจส่งสัญญาณ QE Tapering ราวช่วงการประชุมธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในเดือนสิงหาคม และอาจประกาศแผน Tapering ที่ชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

ธนาคารกลางยุโรปปรับเป้าหมายเงินเฟ้อให้ยืดหยุ่นขึ้นสะท้อนนโยบายที่หนุนการเติบโต เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมยอดค้าปลีกของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 4.6% MoM ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่วนในเดือนมิถุนายนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนแตะระดับ 59.5 สูงสุดในรอบ 15 ปี

ข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนบ่งชี้ถึงการทยอยปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2564 เป็น 4.8% (จากเดิม 4.2% เมื่อเดือนพฤษภาคม) โดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐสภายุโรปได้อนุมัติงบประมาณ 3 หมื่นล้านยูโรเพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงาน ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าหรือเข้าใกล้ 2% เป็นอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อัตราเงินเฟ้อสามารถดีดตัวชั่วคราวได้สูงกว่า 2% สะท้อนว่า ECB ยังไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนการกันสำรองภายหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเดือนมิถุนายนที่จัดทำโดยไฉซินแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563  ที่ 50.6 ส่วนยอดขายรถยนต์ลดลง 12.4% YoY สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 2.02 ล้านคัน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน 

ตัวเลขล่าสุดสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดในมณฑลกวางตุ้งประกอบกับการใช้มาตรการเพื่อควบคุมการเก็งกำไรในบางภาคเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมส่งผลให้ปริมาณเงินกู้ของระบบธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 12.3YoY ล่าสุดยังได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.50% ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน บ่งชี้ว่าธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อผลักดันการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp