FTREIT เผยงบ 9 เดือนแรกปี 64 รายได้รวมโต 12.1% ประกาศจ่ายปันผลไตรมาส 3 อัตรา 0.1690 บาท

63

มิติหุ้น – บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล รีท แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “FIRM”  ผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ “FTREIT” เผยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 (เมษายน – มิถุนายน 2564) รายได้รวมอยู่ที่ 865.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116.5 ล้านบาท หรือ 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และรายได้จากการลงทุนสุทธิมีจำนวน 596.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.5 ล้านบาท หรือ 15.4% โดยมีปัจจัยหลักจากอัตราการเช่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น และการเข้าลงทุนในทรัพย์สินในช่วงปีที่ผ่านมา  ส่งผลให้ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564) รายได้รวมมีจำนวน 2,539.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 274.1 ล้านบาท หรือ 12.1% ขณะที่รายได้จากการลงทุนสุทธิอยู่ที่ 1,752.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238.4 ล้านบาท หรือ 15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ได้ประกาศจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนประจำไตรมาสที่ 3 ในอัตรา 0.1690 บาทต่อหน่วยทรัสต์ โดยมีกำหนดจ่ายในวันที่ 1 กันยายน 2564  รวม 3 ไตรมาส FTREIT ได้ประกาศจ่ายผลตอบแทน รวม 0.5050 บาทต่อหน่วยทรัสต์

ปัจจุบัน ทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของกองทรัสต์ FTREIT ประกอบด้วย อาคารโรงงานและคลังสินค้ารวม 636 ยูนิต บนพื้นที่ให้เช่ารวม 2.03 ล้านตารางเมตร โดยทุกโครงการตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี และจังหวัดในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 อัตราการเช่าเฉลี่ย (Averager Occupancy Rate) อยู่ที่ 85.7%

FTREIT ยังคงเป็นหลักทรัพย์ในดัชนี FTSE Global Index Series หรือ FTSE GEIS จากรอบการทบทวนล่าสุด มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ และช่วยสนับสนุนการให้น้ำหนักในการลงทุนจากนักลงทุนประเภทสถาบันทั้งใน และต่างประเทศมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

นายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ FIRM เผยว่า “ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา (เมษายน – มิถุนายน 2564) สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศทวีความรุนแรงสูงสุดเมื่อนับจากปีก่อน  โดยภายในระยะเวลา 3 เดือน มีผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อสะสมมากกว่า 2 แสนราย อย่างไรก็ตาม พบว่าผลกระทบต่อธุรกิจให้เช่าโรงงานและคลังสินค้ายังอยู่ในวงจำกัด เนื่องด้วยประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่เติบโตมากขึ้นโดยเป็นการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู้ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และ อื่นๆ จากผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้ภาคการส่งออกจะมีการเติบโตกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ ธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ มีการเติบโตมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ปัจจัยบวกทั้งสองประการที่กล่าวมานี้ ทำให้ผู้ประกอบการยังมีความต้องการเช่าโรงงานและคลังสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราการเช่าเฉลี่ยของกองทรัสต์ที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 85.7% และรายได้ของกองทรัสต์ที่ยังมีการเติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 แม้ว่าจะยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19  ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผู้จัดการกองทรัสต์ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ และ ได้ดำเนินกลยุทธ์ในการบริหารสินทรัพย์เชิงรุก รวมถึงแผนการเข้าลงทุนในทรัพย์สินที่มีคุณภาพในทำเลยุทธศาสตร์ทางด้านการผลิต และโลจิสติกส์จากทั้งกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) และจากกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตแก่กองทรัสต์ และสร้างผลประโยชน์ตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ FTREIT”