กลยุทธ์การลงทุน –  ค่าเงินบาททะลุ 33 แล้วและยังมีแนวโน้มจะอ่อนต่อ (06/08/64)

291

ค่าเงินบาทอ่อนลงทะลุ 33 บาท/US$ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบภาวะโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่เศรษฐกิจจะถดถอย เราจึงมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก อย่างน้อยก็ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเราประเมินว่าค่าเงินบาทยังมี downside จากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 3-4% ขึ้นกับสถานการณ์ COVID-19 และ สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ หุ้นที่เราชอบในธีมค่าเงินบาทอ่อนได้แก่ EPG, GFPT, MINT, TU และ ASIAN (non-rate)

 

สถานการณ์โรคระบาดจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มค่าเงินบาท…ถึงแม้การแข็งค่าของ USD ในช่วงนี้จะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง (เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ) แต่เราเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยเราพบว่าค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างมาก ซึ่งค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่ามากกว่าเพื่อนบ้านตั้งแต่ประมาณปลาย 1Q21 ถึงต้น 2Q21 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดระลอกล่าสุดเริ่มต้นขึ้น (เกิด cluster ทองหล่อ และวันหยุดเทศกาลสงกรานต์) ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า google mobility (proxy ของกิจกรรมทางธุรกิจ) ของประเทศไทยลดลงอย่างมาก ตามอัตราการติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นในประเทศไทย

 

…แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก จริงอยู่ว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็เผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นเช่นกัน แต่ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ, ความสามารถของระบบการรักษาพยาบาลในการรองรับผู้ติดเชื้อ, อัตราการกระจายวัคซีน, การสนับสนุนในเชิงนโยบายจากรัฐบาล และความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ หนึ่งในตัวชี้วัดแนวโน้มการเติบโตที่เชื่อถือได้ก็คืออัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเราพบว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ลดลงจาก 1.7% ในปลายเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 1.54% ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน spread ที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่าง  อัตราผลตอบแทนของไทยกับภูมิภาคก็ช่วยยืนยันแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของปริมาณเงินในความหมายกว้าง (M2) ที่ลดลงอย่างหนักก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงการอ่อนค่าของเงินบาท เรามองว่า ณ จุดนี้ ค่าเงินบาทยังไม่น่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะโตต่ำกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกพอสมควรไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย

 

Disclaimer:  เอกสาร/รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์กรุงศรี มิอาจรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ บทความดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้จัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน บริษัทฯขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่างๆที่ปรากฏในเอกสาร/รายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าดังนั้นนักลงทุนโปรดใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน