มิติหุ้น – บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่2/2564 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564
TTA มีรายได้รวมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จำนวน 5,125.8 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 52 ร้อยละ 15 ร้อยละ 17 ร้อยละ 11 และร้อยละ 5 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ โดยกำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 191 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,417.3 ล้านบาท ส่วน EBITDA เติบโตร้อยละ 105 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 1,179 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,013.0 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 TTA มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 32,401.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือ 1,371.7 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ จากการรับมอบเรือมือสอง จำนวน 1 ลำ ในเดือนมกราคม 2564 เงินสดภายใต้การบริหาร ซึ่งประกอบด้วยเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7,539.3 ล้านบาท ส่วนโครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.06 เท่า ณ สิ้นไตรมาส
ผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกเติบโตอย่างแข็งแรงจากผลการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจหลักที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ
ในไตรมาสที่ 2/2564 ค่าเฉลี่ยดัชนีซุปราแมกซ์ (BSI) ขึ้นไปแตะระดับที่ 2,322 จุด จากค่าเฉลี่ย 1,512 จุด ในไตรมาสที่ 1/2564 อัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์ขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยขึ้นไปอยู่เหนือ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือเรือซุปราแมกซ์เฉลี่ยในไตรมาสที่ 2/2564 เท่ากับ 25,538 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โทรีเซน ชิปปิ้ง มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นด้วยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยอยู่ที่ 18,330 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
โดยมีกำไรทั้งจากเรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของและเรือเช่า ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง โดยเมอร์เมด มาริไทม์ มีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มธุรกิจในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (orderbook) ทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส และมี EBITDA กลับมาเป็นบวก ขณะที่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง จากการเติบโตของปริมาณขายปุ๋ยในประเทศเวียดนามและจากราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้น
หากไม่รวมรายการขาดทุนพิเศษจำนวน 122.6 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าก็ตาม กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 2/2464 ยังมีจำนวนถึง 652.8 ล้านบาท และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA เท่ากับ 530.3 ล้านบาท นับว่าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 180 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 320 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “ตลาดบริการขนส่งสินค้าแห้งเทกองฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสต่อไป นอกจากนี้ยังคาดการณ์กันว่า ปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองจะเติบโตร้อยละ 4.6 ในหน่วยตัน-ไมล์ ในขณะที่การขยายตัวของกองเรือยังมีจำกัดและอาจจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3.3 ในหน่วยเดทเวทตัน ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถ่านหิน และแร่เหล็ก จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินค้าแห้งเทกองเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3/2564 และระดับค่าระวางเรือและรายได้จากอัตราค่าระวางเรือก็จะสร้างสถิติใหม่ อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจเรือเทกองยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยคาดการณ์การเติบโตของปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 เทียบกับการขยายตัวของกองเรือที่ร้อยละ 1.4 ซึ่งทางโทรีเซน ชิปปิ้ง ยังครองตำแหน่งในผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองชั้นนำระดับโลก ที่มีผลการบริหารต้นทุนดีเยี่ยมต่อเนื่องตลอดมา สำหรับธุรกิจบริการนอกชายฝั่งนั้น คาดว่างานติดตั้งและรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมและท่อขนส่งปิโตรเลียมในแถบอ่าวไทยจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ และทางเมอร์เมดฯ มีทีมงานบุคลากรชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่พร้อมจะให้บริการงานวิศวกรรมก่อสร้างและงานปฏิบัติการนอกชายฝั่งแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยและในภูมิภาค อย่างไรตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจในประเทศไทยและระดับโลกยังคงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนเช่นกัน”
ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ :
รายได้ค่าระวางของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ในไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ 2,689.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 141 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่2/2564 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 144 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 18,330 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าประกอบไปด้วย อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของที่ 16,713 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และกำไรจากเรือเช่า (chartered-in vessel) ที่ 1,617 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้บริการให้เช่าเรือตามราคาปัจจุบัน (spot rate) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีอัตราการใช้ประโยชน์สูงถึงร้อยละ 100 โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดอยู่ที่ 37,748 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ด้านค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 4,168 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 4,503 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 7 ด้วยเหตุนี้ กำไรขั้นต้นจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 875.6 ล้านบาท ส่วน EBITDA ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 132 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 361 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 823.0 ล้านบาท
ในไตรมาสที่ 2/2564 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 671.6 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 227 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 1,358 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นเจ้าของเรือจำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 13.2 ปี ณ สิ้นไตรมาส
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :
รายได้ของบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จากัด (มหาชน) หรือ เมอร์เมด มาริไทม์ ในไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ 760.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมีสาเหตุมาจากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่สูงขึ้นและรายได้จากงานที่ไม่ใช้เรือที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีสาเหตุมาจากอัตราค่าเช่าต่อวันของเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นและรายได้จากงานที่ไม่ใช้เรือที่เพิ่มขึ้นทั้งที่มีอัตราการใช้ประโยชน์เรือลดลง ทั้งนี้ อัตราการใช้ประโยชน์เรือ (performing vessel utilization) ในไตรมาสที่ 2/2564 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 67 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากร้อยละ 71 โดยมีกำไรขั้นต้นเป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 นับจากไตรมาสที่ 3/2563 และปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ร้อยละ 130 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 232 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 122.6 ล้านบาท ส่วนงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลมีความคืบหน้าต่อเนื่องและมีอัตรากำไรที่ดี ขณะที่ EBITDA กลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 13.3 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2563 จำนวน (194.0) ล้านบาท
โดยสรุป เมอร์เมด มาริไทม์ รายงานผลขาดทุนสุทธิสำหรับงวดไตรมาสที่ 2/2564 จำนวน 98.7 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 58.6 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบแตะระดับ 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดใหม่ ณ สิ้นไตรมาส 2/2564
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :
รายได้ของบริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ในไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ 896.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุมาจากปริมาณขายปุ๋ยภายในประเทศเวียดนามและราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปริมาณขายปุ๋ยรวมในไตรมาสที่ 2/2564 เพิ่มขึ้นเป็น 56.4 พันตัน โดยปริมาณขายปุ๋ยภายในประเทศเวียดนามทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 49.9 พันตัน เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและการบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงปัจจัยตามฤดูกาล ส่วนการส่งออกปุ๋ยไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาถูกจำกัดด้วยภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในไตรมาสนี้ จึงส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปุ๋ยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 336 จากไตรมาสก่อน เป็น 6.6 พันตัน
ในไตรมาสที่ 2/2564 รายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 12.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในไตรมาสนี้
โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิสำหรับงวดในไตรมาสที่ 2/2564 จำนวน 31.0 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 21.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 106 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 249 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 172 สาขา ทั่วประเทศทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 10 สาขา ทั่วประเทศ
กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำ และโลจิสติกส์
บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 83.75 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้