SO โตฝ่าวิกฤตโควิด กำไรพุ่งกระฉูด 41 % ใจป้ำจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.20 บาท

131

มิติหุ้น – SO กำไรครึ่งปีแรก 2564 โตก้าวกระโดด 41 % สวนวิกฤตโควิด-19 ชี้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิแข็งแกร่ง เหตุรับรู้ผลจากการทำสัญญาระยะยาว 5 ปีจากหน่วยงานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ผนวกเห็นผลชัดเจนหลังเน้นนโยบายควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายตั้งแต่กลางปี 2563 และเดินหน้าใช้เทคโนโลยีทรานฟอร์มธุรกิจเต็มสูบต่อเนื่อง ประกาศจัดทัพทีมบริหารใหม่ แต่งตั้ง ‘จิรณุ กุลชนะรัตน์’ เป็นประธานกรรมการบริหาร และ ‘ณัฐพล วิมลเฉลา’ เป็นซีอีโอใหม่ ลุยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้ผู้ถือหุ้น 0.20 บาท  

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยผลประกอบครึ่งแรกของปี 2564 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2564 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 83.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 58.99 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 1,025.86 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,027.09 ล้านบาท

นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตรากำไรขั้นต้น ปรับขึ้นเป็น 19 % เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 17.4 % เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้นจากส่วนของค่าเช่าและบริการจากการต่อสัญญาระยะยาวกับลูกค้าหน่วยงานรัฐบาลรายหนึ่ง และการให้บริการงานบันทึกข้อมูล เช่นเดียวกับอัตรากำไรสุทธิก็ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยขึ้นมาอยู่ในระดับ 7.7 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่เพียง 6.3 %

ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกประเภทรายได้ รายได้ค่าบริหารจัดการบุคลากรครึ่งแรกของปี 2564 เท่ากับ 887.09 ล้านบาท ลดลง 1.19 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 897.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อรายได้ส่วนของค่าล่วงเวลา และบริการ valet parking เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยเริ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าเช่าและบริการงวดครึ่งแรกของปี 2564 ยังเพิ่มขึ้น 7.74 % โดยทำได้ 121.51 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 115.56 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้บริการรถยนต์ให้เช่า ที่ทางบริษัทได้ลูกค้าหน่วยงานของรัฐบาลรายใหญ่รายหนึ่งที่มีการทำสัญญาระยะยาว โดยมีอายุสัญญาเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทำให้บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากสัญญาดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 เป็นต้นมา รวมทั้งยังรับรู้กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าและรายได้อื่นๆ ที่ยังเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากดูผลประกอบการแบบรายไตรมาส ในไตรมาส 2 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.82 % จากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ทำได้ 39 ล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 76 % ที่ทำได้ 25 ล้านบาท ส่วนรายได้ไตรมาส 2 บริษัทมีรายได้เท่ากับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 506 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3.68 % โดยรายได้ไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 488 ล้านบาท

“จะเห็นได้ว่าแม้รายได้บริษัทจะลดลงเล็กน้อย แต่ตัวเลขทางการเงินอื่น ตั้งแต่กำไรสุทธิ อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสถานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับตอนสิ้นปี 2563 ตั้งแต่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เหลือ 0.70 เท่า จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 0.76 เท่า ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เพิ่มขึ้นเป็น 9.66 % จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 9.08 % และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็น 17.09 % เทียบกับสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 15.98 %” นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานของบริษัทในงวดครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74.39 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 10 กันยายน 2564

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทล่าสุด มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายจิรณุ กุลชนะรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร แทนนายไกร วิมลเฉลา โดยยังคงให้คำปรึกษาและช่วยควบคุมการบริหาร และนายณัฐพล วิมลเฉลา ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทั้งหมดนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อรองรับเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคเอกชนหันมาใช้ Outsourcing เพื่อที่จะควบคุมต้นทุนการดำเนินงานมากขึ้น และบริษัทได้มีเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าภาคเอกชนรายใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 15 % ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ภาคเอกชนสิ้น มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 34 % และยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนภาคเอกชนเป็นกว่า 50 % ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2566

โดยล่าสุดบริษัทเพิ่งคว้า 3 สัญญา มูลค่ารวม 460 ล้านบาท จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ทำสัญญา 2-3 ปี ในกลุ่มธุรกิจงานบริการด้านบุคลากร (SO PEOPLE) ที่จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้พนักงานขับรถ รวม 600 กว่าอัตรา

“การที่อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากที่บริษัทมีนโยบายลดต้นทุน (Cost Reduction) การจัดการเพื่อลดการสูญเปล่า (Lean Management) มาตั้งแต่เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา โดยยังรักษาค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ได้ในระดับที่ไม่ได้แตกต่างจากช่วงเดียวกับปีก่อน โดย ณ สิ้น มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 10 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 11 % อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีมาปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Digitization) ที่มุ่งเน้นการนำระบบและแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ลดขั้นตอนการการดำเนินงาน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ซึ่งเริ่มจะสะท้อนผลกลับมายังบริษัทมากขึ้น”นายณัฐพลกล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าที่จะหาพันธมิตร M&A เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายตั้งแต่บริษัท Outsource, Software Enterprise และ Professional Training พร้อมเดินแผนการเป็นบริษัทที่ทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการที่ลดลง แต่ประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการแข่งขันที่สูงขึ้นได้

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp