มิติหุ้น – นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจให้บริการส่งอาหารถึงบ้าน (Food Delivery) ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และตัวร้านอาหารที่เพิ่มบริการนี้ขึ้นมา หรือมีการใช้ทั้งสองช่องทางควบคู่กัน แต่สำหรับร้านขนาดเล็กทั่วไปซึ่งมีทุนและกำลังคนจำกัดในการบริหารจัดการส่งอาหารให้กับลูกค้าได้เองอย่างเป็นระบบ การใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในยุคสมัยนี้ได้ดีทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกตามเงื่อนไขที่เหมาะสมกับร้านของตัวเอง หรือจะใช้หลายแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มการเข้าถึงจากลูกค้าก็สามารถทำได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารจึงได้จัดงานสัมมนา เปิดสูตรลับ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจอาหารต้องรอด โดยได้เชิญกูรูในธุรกิจร้านอาหาร อาทิ นายสีหนาท ล่ำซ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด นายชลวิทย์ ไตรโลกา เจ้าของร้านกะพง Kapong Delivery เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์ แชมป์เชฟกระทะเหล็กและเจ้าของร้าน Honmono Sushi นายศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Phoenix Lava และนายสุรเวช เตลาน เจ้าของร้าน Mo-Mo Paradise มาร่วมแนะเคล็ดลับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจอาหารในยุคนี้
โดยได้สกัดเคล็ดลับจากงานสัมมนา “6 กลเม็ดปั๊มยอดขายบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทันที ดังนี้
- สร้างความดึงดูดใจด้วยรูปภาพสินค้าและรายการอาหารที่ชัดเจน รูปภาพที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มเปรียบเสมือนหน้าร้านที่จะทำให้ลูกค้าหยุดแวะสำรวจรายการอาหาร หรือเลื่อนผ่านไปยังร้านอาหารอื่นๆ ที่มีให้เลือกอีกมากมายบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ปัจจุบันเทคโนโลยีกล้องบนโทรศัพท์มือก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้แล้ว และอย่าลืมให้ความสำคัญกับรายการอาหารที่ต้องชัดเจนเข้าใจง่าย การสร้างลูกเล่นให้กับชื่อรายการอาหารก็สามารถสร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อย และต้องขยันเช็คเวลาเปิด-ปิดร้าน และอัพเดทเมนูเตรียมรับลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้พร้อมทุกวัน
- การจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ให้กับลูกค้าโดยตรง สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านได้อีกหลายเท่าเลยทีเดียว ซึ่งจะได้ทั้งลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามา และยังเป็นการสร้าง Loyalty และ Engagement ให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำ หรือนึกถึงร้านของเราเป็นอันดับแรกๆ และควรมีโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลพิเศษให้กับลูกค้าเสมอ เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้ามักจะมีออเดอร์สั่งซื้ออาหารแต่ละครั้งในปริมาณที่มากขึ้น
- วางกลยุทธ์การขายให้สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมของลูกค้า ต้องกลับมาวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เช่น ช่วงเวลาใดที่มีคำสั่งซื้อหนาแน่น เพื่อจะได้จัดโปรโมชั่นกระจายคำสั่งซื้อของลูกค้าไปยังช่วงเวลาอื่นทดแทน ตลอดจนวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งร้านซึ่งก็มีผลต่อต่อพฤติกรรมการสั่งอาหารเช่นกัน เพราะหากร้านตั้งอยู่ย่านออฟฟิศจะมีคำสั่งซื้อเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงจันทร์ – ศุกร์ แต่หากเป็นย่านที่พักอาศัยชานเมืองคำสั่งซื้อจะหนาแน่นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งหากสามารถวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะนี้ได้จะช่วยให้ร้านอาหารสามารถปรับเปลี่ยนเมนูได้เหมาะกับลูกค้ามากขึ้น และจัดรายการส่งเสริมการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อรู้ว่าช่วงใดที่ยอดขายจะหายไปก็สามารถไปหา Cloud Kitchen ในทำเลอื่นเพื่อขายอาหารให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติม
- ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ปัจจุบันมีชุมชนเฉพาะกลุ่มมากมายบนโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่มคนชอบกินราเมง กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ กลุ่มคนรักปิ้งย่าง กลุ่มของกินย่านเยาวราช เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสของร้านอาหารที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและแชร์เรื่องราวดีๆ หรือข้อมูลของทางร้าน ความรู้เกี่ยวกับอาหารที่คนในชุมชนนั้นให้ความสนใจ นับเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ร้าน สินค้า และโปรโมชั่นที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้เราเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
- การทำการตลาดดิจิทัลบนโซเชียลมีเดียของร้าน แม้เราจะขึ้นไปขายอาหารอยู่บนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่โซเชียลมีเดียของร้านยังคงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าตัวจริงที่เราต้องให้ความสำคัญ แม้บนแพลตฟอร์มจะมีผู้บริโภคอยู่มากมายแต่เราไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นลูกค้าของเรา แต่คนที่ติดตามร้านเราอยู่แล้วนั้นคือลูกค้าที่มีตัวตนของเราแน่นอน จึงควรเป็นช่องทางหลักในการทำการตลาด เช่น ไลฟ์แนะนำเมนูพิเศษ สอนทำอาหาร และเป็นช่องทางแจ้งโปรโมชั่นของทางร้านที่ลิงค์การซื้ออาหารไปยังแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่
- สร้างประสบการณ์ที่ดีเทียบเท่านั่งรับประทานในร้าน ผู้ประกอบการจะต้องพลิกบทบาทมาเป็นลูกค้าของร้านตัวเองและสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับลูกค้า เพื่อประเมินสิ่งที่ลูกค้าได้รับไปนั้นสามารถทดแทนการนั่งรับประทานที่ร้านได้ดีเพียงใด มีสิ่งใดที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพของอาหารที่ส่งมอบให้กับลูกค้าจะต้องสะอาด มีรสชาติต้องใกล้เคียงกับการรับประทานที่ร้านให้มากที่สุด หน้าตาของอาหารต้องน่ารับประทานและตรงปก ได้รับการบรรจุในแพคเกจที่สามารถรักษาสภาพของอาหารได้อย่างเหมาะสม และเมื่อเปิดออกมาต้องพร้อมสำหรับการรับประทานได้ในทันที
พฤติกรรมการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย และน่าจะอยู่ต่อไปอย่างถาวร แม้สถานการณ์โควิด-19 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงควรเพิ่มบริการในรูปแบบของฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อก้าวไปพร้อมกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเคล็ดลับทั้ง 6 ข้อข้างต้นสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์มและในทุกสถานการณ์เพื่อสร้างยอดขายอย่างแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี ผ่านช่องทาง website: www.scb.co.th/th/sme-banking และ Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร.02 7222222
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้