สิงห์ เอสเตท ร่วมสนับสนุนสมาคมคนพิการทางสมอง ออกแบบก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬาบอคเซียมาตราฐานสากล

290

มิติหุ้น – สิงห์เอสเตทร่วมส่งกำลังใจให้นักกีฬาพาราไทย ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก  2020  ครั้งที่ 16 นี้ที่ประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนสมาคมคนพิการทางสมอง ออกแบบพัฒนาอาคารศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียที่มีมาตราฐานสากลเตรียมความพร้อมสำหรับนักกีฬา พร้อมต่อยอดแนวคิด ‘Enriching Life’สร้างคุณค่าให้ชีวิต ประยุกต์แนวคิดการออกแบบ Universal design ตอบรับเทรนด์ความต้องการที่พักอาศัยแบบ Wellness Society

สิงห์ เอสเตทสานต่อโครงการของบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักทุกสมาคมกีฬาคนพิการ ตั้งแต่ปี 2548 ร่วมสนับสนุนการการออกแบบและก่อสร้างโครงการศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติของสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก ซึ่งศูนย์แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมหลักของนักกีฬาคนพิการบอคเซียทีมชาติไทย การพัฒนานักกีฬาคนพิการ และยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้และเทคนิคการเล่นบอคเซียให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันประเทศไทยมีนักกีฬาบอคเซียครองแชมป์อันดับหนึ่งระดับโลกอยู่หลายรายการ นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งนี้ ยังมีส่วนสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้ทัพนักกีฬาคนพิการของไทยที่กำลังจะเข้าร่วมแข่งขันพาราลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน นี้อีกด้วย

นายสาทิต สืบสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายออกแบบและก่อสร้าง บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เผยว่า การก่อสร้างศูนย์กีฬาบอคเซียแห่งนี้ ถือเป็นต้นแบบอาคารสาธารณะสำหรับคนพิการ ที่สิงห์ เอสเตท ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีทางสำหรับขึ้นลงสำหรับรถวีลแชร์ โดยมีทางลาดสำหรับการใช้งานได้ด้วยตนเองไม่ต้องมีคนช่วยเหลือ พื้นที่บริเวณห้องน้ำแบบไร้ระดับ  ประตูมีขนาดกว้างเหมาะสมและมีราวจับพิเศษสำหรับการใช้งาน นอกจากนี้ยังลิฟท์และทางหนีไฟเพื่อความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งมีสนามกีฬาสำหรับฝึกซ้อมที่มีมาตรฐานสากล

“จากการได้ร่วมพัฒนาศูนย์บอคเซียแห่งชาติในครั้งนี้ ทีมงานรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนี่งในการให้กำลังใจ สนับสนุน และส่งเสริมการฝึกซ้อมของนักกีฬาพาราลิมปิกของไทย ที่จะไปเป็นตัวแทนประเทศในการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะพาราลิมปิก ครั้งที่ 16 นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญทีมงานยังนำแนวคิดของการออกแบบมาต่อยอดการพัฒนาโครงการด้าน Universal Design โดยหัวใจสำคัญคือ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันไป คำนึงถึงความเท่าเทียม และความยืดหยุ่นในการใช้งาน การออกแบบต้องรองรับความต้องการที่หลากหลายของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ หรือผู้สูงอายุ  ที่สำคัญคือการใช้งานง่าย คล่องตัว  และมีความปลอดภัยต่างๆ เราได้นำประสบการณ์ในการออกแบบนี้มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาทุกโครงการของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของ Wellness Society หรือที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต” นายสาทิต กล่าว