ปตท.สผ.- เออาร์วี หนุน ‘จุฬาฯ-ใบยา’ ลงนาม MOU สนับสนุน 30 ล้านบาท พัฒนาวัคซีนโควิดของคนไทย คุณภาพเทียบเท่าต่างชาติ คาดสำเร็จปี 65

129

มิติหุ้น  –  นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์  โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ จุฬาฯใบยา กับ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิ ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท    ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช ซึ่งดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ. มีภารกิจหลักในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ปตท.สผ. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับวิกฤตเคียงข้างคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้สนับสนุนทั้งนวัตกรรมและงบประมาณให้กับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ มาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา 

การพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่ง ปตท.สผ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมสนับสนุน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทั้งงบประมาณ องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้การค้นคว้าวิจัย ทดลอง ผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีวัคซีนต้านโควิดที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการป้องกันเชื้อโรค รวมทั้ง ยังเป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จและความสามารถของประเทศไทยในการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน โดย เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. จะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาร่วมในการพัฒนาและผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ด้วย” นายพงศธรกล่าว

นวัตกรรมอื่นๆ ซึ่ง ปตท.สผ. โดยเออาร์วี ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ชุดอุปกรณ์ระบบตรวจวัดอุณหภูมิตู้เก็บวัคซีนโควิด-19 และควบคุมห่วงโซ่ความเย็น หุ่นยนต์ CARA นำส่งเวชภัณฑ์และอาหาร หุ่นยนต์ Xterlizer ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสงยูวี เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ กล่าวว่า มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ขอขอบคุณ ปตท.สผ. และ เออาร์วี ที่ให้การสนับสนุน ร่วมเป็นพันธมิตรในภารกิจครั้งสำคัญนี้ เราเป็นองค์กร      ไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินให้แก่ใบยา ไฟโตฟาร์ม ให้สามารถศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อคิดค้นและผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับคนไทยได้สำเร็จจนข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้และด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเดียวกันนี้ที่เราคนไทยเป็นเจ้าของเองตั้งแต่ต้นน้ำจะช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา กำลังอยู่ระหว่างทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของ ปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากฝีมือคนไทยในประเทศได้เองสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน หรือ 60 ล้านโดสต่อปี

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp