EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือโต 0.7% จากเดิม 0.9%

105

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.9% ตามการระบาดในประเทศระลอกที่สามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาดจากความกังวลของสถานการณ์ระบาดในประเทศ

โดยคาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ จากอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีทิศทางชะลอลงบ้างทั้งจากฐานที่ปรับสูงขึ้น และผล กระทบของการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิด Supply disruption ในหลายห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน

ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจหลายประเภท อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน โดย EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2565 EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% โดยจะเป็นการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถเอื้อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 6.3 ล้านคน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในประเทศก็จะฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึก จากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลง ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของภาครัฐ แม้ด้านการลงทุนโครงการภาครัฐจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมจะลดลงจากปีก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินราว 3 แสนล้านบาทที่จะเหลือจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ทำมาตรการเพิ่มเติมในปี 2564

ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (output loss) ในระดับสูงและอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยแม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 และ 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้น

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญจาก 1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 2) ปัญหาด้าน  Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน และ 3) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่การฟื้นตัวของแต่ละภูมิภาคยังมีความแตกต่างอยู่มาก ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการระบาด ความเร็วของการฉีดวัคซีน และขนาดของมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ

EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 และ 2565 จะขยายตัว 6.0% และ 4.6% ตามลำดับ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลงจากช่วงต้นไตรมาสที่สาม เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญ ส่วนใหญ่ได้มีการเปิดเมืองไปแล้ว ทำให้ pent up demand เร่งตัวไปในช่วงปลายไตรมาสที่สองและต้นไตรมาสที่สามของปีนี้ อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตายังส่งผลต่อภาคบริการ ทำให้การขยายตัวปรับชะลอลงในช่วงสองเดือนล่าสุด นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐที่ได้ดำเนินการไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะทยอยหมดอายุลงในช่วงไตรมาสที่สี่ปีนี้

ด้านเศรษฐกิจไทย EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.9% โดยมีสาเหตุหลักจากผลของการระบาดในประเทศรอบล่าสุดที่รุนแรงมากกว่าคาด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยกว่าเดิม ตามความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ระบาดในประเทศ สะท้อนได้จากหลายประเทศที่มีการประกาศให้ไทยเป็นประเทศความเสี่ยงสูงด้านการระบาด COVID-19 เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จึงมีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนคน (เดิมคาด 3 แสนคน)

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาคเอกชนก็ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดในประเทศและมาตรการ lockdown เช่นกัน สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมที่หดตัวถึง -8.1%YOY รวมถึงการลงทุนก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์คนงานในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยแม้ว่าจะกลับมาดำเนินการได้แล้ว แต่มาตรการ Bubble and seal ก็ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นและทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ

ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศจากการระบาดจะมีมากสุดในช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและการกลับมาดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 แต่ EIC ก็คาดว่า GDP ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะติดลบแบบ %YOY ทั้งสองไตรมาส สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงของการระบาดที่ยืดเยื้อต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกและเม็ดเงินภาครัฐ โดยภาคส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่อัตราเติบโตจะชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี จากฐานของปีก่อนหน้าที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีการสะดุดตัวจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน อีกทั้ง ปัญหาด้าน Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน

ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่องจากทั้งในงบประมาณและจากหลายมาตรการช่วยเหลือ
แต่มาตรการที่มียังไม่เพียงพอ
ทั้งใน 1) เชิงพื้นที่ที่ช่วยเหลือรายได้นายจ้างและลูกจ้างเพียง 29 จังหวัดที่โดน lockdown ขณะที่ผลกระทบกระจายตัวไปยังทั่วประเทศ 2) เชิงระยะเวลาที่ช่วยเหลือรายได้เพียง 1-2 เดือน ขณะที่ผลกระทบลากยาวอย่างน้อย 6 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน และ 3) เชิงเม็ดเงินที่มีมาตรการช่วยเหลือจากการโอนเงินโดยตรงเพียง 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ EIC ประเมินผลกระทบการระบาดรอบ 3 มีมากถึง 8.5 แสนล้านบาท ดังนั้น EIC จึงคาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมด พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท จาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แม้ประเมินเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ก็จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ เนื่องจากผลของแผลเป็นเศรษฐกิจ โดยแผลเป็นในภาคธุรกิจที่การเปิดกิจการยังมีการหดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กิจการที่เปิดใหม่ในระยะหลังมักมีขนาดเล็กและอยู่ในสาขาที่มีการลงทุนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เช่น ภาคเกษตร และร้านอาหาร การลดลงของจำนวนกิจการใหม่ในภาพรวมและลักษณะของกิจการเปิดใหม่ที่เปลี่ยนไปจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวต่อการลงทุนและการจ้างงานในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ แผลเป็นยังเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ราว 1.9% เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในช่วงก่อน COVID-19 สำหรับผู้ที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีรายได้เฉลี่ยลดลง จากการลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ทำให้รายได้โอทีและโบนัสหดตัวลงมาก อีกทั้ง แรงงานยังมีการเคลื่อนย้ายไปในงานที่รายได้ต่ำลงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปทำงานในภาคธุรกิจที่ค่าแรงเฉลี่ยต่ำลง  หรือการเปลี่ยนจากลูกจ้างเป็นประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า โดยสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้จะบั่นทอนความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในภาระหนักของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง

ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดขนาด Output loss และแผลเป็นเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้กระทบศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยจากการคำนวณของ EIC พบว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3.4% ในปี 2565 แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพมาก จึงทำให้มี output loss[1] ในระดับสูงและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น

โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ทั้งนี้การปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพหรือมีแผลเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 1) จำนวนธุรกิจที่ต้องปิดกิจการมากขึ้น ทำให้การจ้างงานและการลงทุนลดลงมาก กระทบต่อศักยภาพในการเติบโตในระยะข้างหน้า 2) คนว่างงานไม่สามารถหางานได้หรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ตรงกับทักษะ ทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียรายได้เป็นเวลานาน ขาดการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และอาจกลายเป็นผู้ว่างงานระยะยาวซึ่งจะกระทบกับผลิตภาพ (productivity) ของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันวิกฤตที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่ากับแรงงานที่มีรายได้น้อยและทักษะไม่มาก รวมถึงธุรกิจ SME ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยยิ่งถ่างกว้างขึ้น เสี่ยงต่อการก่อเกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) มาตรการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจ SME และการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกภายหลัง COVID-19 โดยแม้การกู้เงินเพิ่มเติมจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศอยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 และปี 2565 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำในหลายมิติ ประกอบไปด้วย 1) การระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่อาจปรับรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากการทยอยเปิดเมือง 2) การกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากต้องมีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดอีกครั้ง ทำให้การฟื้นตัวด้านการค้าและการท่องเที่ยวโลกต้องเลื่อนออกไป 3) ปัญหาด้าน Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงาน ในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน และ 4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง

 

โดย : ดร.ยรรยง ไทยเจริญ
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

****บทความโดยย่อสรุป***

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp