ส่องนโยบายเฟด เมื่อเงินเฟ้ออาจสูงนานเกินคาด

221

สหรัฐฯเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งขยับลงเล็กน้อยจากระดับ 5.4% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารที่มีความผันผวนสูงนั้น เพิ่มขึ้น 4.0% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และย่อตัวลงจาก 4.3% ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าอาจมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะเริ่มถอนคันเร่งมาตรการสนับสนุนตลาดด้วยการลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ก่อนสิ้นปีนี้

ประธานเฟดแถลงในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ว่าเงื่อนไขและบริบทแวดล้อมระหว่าง QE Tapering กับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นแตกต่างกัน โดยเรามองว่าเฟดพยายามสื่อสารกับตลาดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อกรอบนโยบายใหม่ที่หันมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) 2% สะท้อนว่าเฟดอาจทนเห็นเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง นั่นคือ เฟดไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยกรณีที่เงินเฟ้อสูงทะลุกรอบเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์จังหวะเวลาคุมเข้มนโยบายการเงินมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตั้งแต่โลหะที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไปจนถึงสินค้าเกษตร แม้จะย่อลงมาบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูงมาก (กราฟด้านล่าง) จากประเด็นคอขวดของห่วงโซอุปทาน และอุปสงค์จากการกลับมาเปิดเมือง รวมถึงสภาวะอากาศ ทั้งนี้ ในปี 2564 ราคาทองแดงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อลูมิเนียมสูงสุดรอบ 13 ปี ก๊าซธรรมชาติและกาแฟสูงสุดรอบ 7 ปี ราคาน้ำตาลสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี รวมถึงค่าขนส่งทางเรือที่ยังไม่มีสัญญาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อมองไปข้างหน้า ความท้าทายหลักของเฟดและแรงกระเพื่อมต่อสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ คือ กรณีที่เงินเฟ้อ หรือระดับราคาของสินค้าและบริการแผ่วลงช้ากว่าที่ประเมินไว้หลังวิกฤติโควิดคลายตัวลงทั่วโลก โดยผลสำรวจของเฟดสาขานิวยอร์กบ่งชี้ว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐฯในช่วง 1 ปี และ 3 ปีข้างหน้า อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการทำผลสำรวจในปี 2556 นอกจากนี้ เราเห็นความกังวลของตลาดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation หรือการที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อไม่ลง ซึ่งอาจเป็นฝันร้ายของเฟด โดยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯกระตุ้นความวิตกดังกล่าวขณะที่ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดมากแต่ค่าจ้างสูงเกินคาด และอาจนำมาซึ่ง Wage-push inflation กล่าวโดยสรุป เรามองว่าในระยะสั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับสูง ส่วนในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้าการลงทุนขยายการผลิตจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับการตัดสินใจด้านนโยบายของเฟดได้บ้าง

 

Bloomberg Commodity Index

Source: Bloomberg

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp