รู้หรือไม่? 2 ธันวาคม นี้ ทุกอาคารสูงต้องมีจุดติดตั้งเครื่อง AED !!

414

 มิติหุ้น –  แน่นอนว่าอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน หรือแม้แต่โรงภาพยนตร์นั้น ย่อมจะมีผู้เข้าออกผลัดกันใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งอาจมีอุบัติภัยหรืออาการเจ็บป่วยเฉียบพลันเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ภายในอาคาร การให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจึงสำคัญมาก แต่ปัจจุบันพบว่าอาคารสาธารณะบางแห่งเข้าถึงยาก โดยเฉพาะการจราจรในบ้านเราที่อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ด้านการดูแลฉุกเฉินไปถึงจุดเกิดเหตุได้ล่าช้า อาคารไม่มีจุดจอดรถฉุกเฉิน หรือที่มีอยู่ยังไม่เหมาะสม ทำให้ปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตผู้ประสบภัยเป็นไปได้ยาก การอำนวยความสะดวกหรือจัดการให้มีความพร้อมต่อการเข้าไปช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของหรือผู้ดูแลอาคารพึงให้ความสำคัญ

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกกระทรวง ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะหลายด้าน อาทิ ให้อาคารสูงและและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับบุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดในอาคารได้ทุกชั้น ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับยานพาหนะ ในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติ ได้แก่ รถดับเพลิง รถพยาบาลหรือรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยเจ้าของอาคารต้องดูแลให้เข้าถึงได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง จัดให้มีลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้าย ผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) หรือ AED ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.  นี้ เป็นต้นไป

ทำไมต้องมีเครื่อง AED ในอาคารสูง?

AED คือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) ที่สามารถวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจ และใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ “SCA (Sudden Cardiac Arrest)” หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้กลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้ง เครื่อง AED และการทำ CPR ที่ดีจึงมีความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยในระหว่างรอให้รถพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่กู้ชีพเดินทางมาถึง ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงการเรียนรู้ขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต ด้วยการใช้เครื่อง AED เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะ SCA ซึ่งประเทศไทยยังมีการติดตั้งในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น

SCA ภาวะความเป็น-ตาย ที่รอไม่ได้

            วินาทีความเป็นความตายอย่างภาวะหยุดหายใจกระทันหันหรือ SCA อันเกิดจากระบบไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ ที่ทำให้เราสามารถล้มทั้งยืนได้เลยโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือนแบบโรคหัวใจวายมาก่อนเลย ซึ่งอาการแบบนี้เป็นอะไรที่ “รอไม่ได้” จากสถิติปัจจุบันมีกลุ่มผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตกว่า 54,000 คนต่อปี (เฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมง)

ความน่ากลัวของอาการ SCA นั้น นอกจากจะเป็นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนแล้ว ทุกคนยังสามารถเป็นได้ไม่ว่าอายุมากหรือน้อย และไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวมาก่อน อย่างกรณีช็อคโลกที่ “Christian Eriksen (คริสเตียน อีริคเซ่น)” ดาวเตะจอมทัพทีมชาติเดนมาร์กหมดสติฟุบลงดื้อๆ คาสนาม ในศึก EURO 2020 เกมระหว่าง “Denmark 0-1 Finland” เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่มีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น! ทำเอาทีมแพทย์สนามต้องรีบกรูกันมาชุดใหญ่ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งวินาทีชีวิตที่ทุกอย่างเป็นตายได้เท่ากัน จังหวะนั้นทีมแพทย์ต้องทำการ CPR (ปั๊มหัวใจ) ด้วยเครื่อง AED เป็นเวลา 13 นาที จนกระทั่งเจ้าตัวได้สติ  ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ลองนึกภาพหากตอนนั้นไม่ได้รับการทำ CPR ที่ดี และไม่มีเครื่อง AED มาช่วยกระตุกหัวใจให้กลับมาปกติป่านนี้จะเป็นอย่างไร? และลองนึกภาพต่อไปว่าหากเกิดเหตุมีผู้ป่วย SCA ในอาคารสูงที่กว่าความช่วยเหลือหรือรถพยาบาลฉุกเฉินจะเดินทางมาถึง เราจะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตที่พุ่งขึ้นไปอีกเท่าไร?

สิ่งที่ต้องทำ เมื่อพบผู้ป่วย SCA ในอาคารสูงเรียก 1669 และถามหาเครื่อง AED

เมื่อเกิดภาวะ SCA  ผู้ป่วยควรได้รับการช่วยเหลือให้หัวใจกลับมาเต้นด้วยการทำ CPR ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆ เพราะหากขาดนานถึง 4 นาที ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสมอง และอาจเสียชีวิตภายใน 10 นาที* ดังนั้น 10 นาทีแรกของการช่วยชีวิตจึงสำคัญมาก! ยิ่งใช้เวลานานเท่าไร โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็น้อยลงเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อพบเห็นผู้มีอาการ SCA ในอาคารสูงหรืออาคารสาธารณะต่างๆ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือเรียก 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และถามหาเครื่อง AED ที่ใกล้ที่สุดจากผู้ดูแลอาคาร หรือ รปภ.​ เพื่อช่วยทำ CPR และใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ระหว่างที่รอความช่วยเหลือมาถึง โดยระหว่างการช่วยเหลือห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะจะเป็นการรบกวนการช่วยเหลือต่างๆ

          การทำ CPR ที่มีคุณภาพและถูกต้องเป็นเรื่องกังวลที่ทำให้หลายคนเกิดความลังเลเมื่อต้องทำการช่วยเหลือ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดว่ากำลังปั๊มถูกหรือผิด น้ำหนักการกดลงไปเพียงพอไหมด้วยความต่างของน้ำหนักผู้ประสบเหตุและผู้ช่วยชีวิต หรือแม้จะทำได้ในเวลา 10 นาที ถ้ากระตุ้นไม่ถูกวิธีก็อาจจะไม่สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยได้เลย หรือแม้จะช่วยชีวิตได้แต่หากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอก็จะเกิดภาวะนอนเป็นผักแทน การมีเครื่อง AED ที่มีคุณภาพ พร้อมใช้งานตลอดเวลา สามารถแนะเราให้มีความมั่นใจในการทำ CPR ที่ดี จึงมีความสำคัญมากในภาวะฉุกเฉินแบบนี้

การใช้เครื่อง AED โดยทั่วไปจะมีวิธีเหมือนๆ กันคือ ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย หลังจากนั้นไม่สัมผัสตัวผู้ป่วย แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่อง AED รุ่นใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชั่นทันสมัย ใช้งานได้ง่ายแม้คนที่ CPR ไม่เป็นอย่าง Real CPR Help® เช่น ถ้าเราทำ CPR เบาไป เครื่องก็จะบอกให้กดแรงขึ้นอีก หรือหากน้ำหนักการกดนั้นดีแล้ว เครื่องก็จะบอกว่ากดดีแล้วทำต่อไป พร้อมยังบอกถึงความลึกของการกดได้ด้วย มาพร้อมภาพและเสียงคอยซัพพอร์ตการช่วยชีวิต หมดกังวลว่าจะทำ CPR ได้ไม่ดีพอ

เลือก AED อย่างไร ติดตั้งตรงไหนให้ชัวร์ต่อการช่วยชีวิต 

เครื่อง AED ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยชีวิต ดังนั้นการเลือกเครื่อง AED เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยจึงต้องพิจารณาให้ดี ควรเลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ด้านผลิตภัณฑ์ด้านการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ได้รับความไว้วางใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้รับมาตรฐานในระดับโลก อาทิ จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมสำหรับการใช้ช่วยชีวิตได้ตลอดเวลา มีการรับประกันสินค้า

สำหรับจุดติดตั้ง AED ในอาคารสูงและอาคารสาธารณะนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดว่า สถานที่ที่ควรติดตั้งเครื่อง AED คือที่ที่มีคนพลุกพล่านและมีความเสี่ยงสูง จะต้องพิจารณาตำแหน่งของการติดตั้งเครื่องให้เหมาะสม โดยควรตั้งอยู่ในที่ที่สามารถนำมาช่วยฟื้นคืนชีพได้ทันทีที่เห็นว่าผู้ป่วยหมดสติ อย่างจุดใกล้ลิฟต์หรือบันไดในอาคารสูง ควรมีการจัดทำแผนผังของอาคารที่เข้าใจง่าย พร้อมกับมีป้ายชี้ทางบอกให้เห็นบริเวณที่มีการติดตั้งเครื่องเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และตัวเครื่องจะต้องอยู่ในที่ที่สามารถเอาออกมาใช้งานได้ภายในเวลา 1 นาที

แต่ขณะเดียวกันไม่ควรติดตั้งเครื่อง AED ในจุดที่แสงแดดหรือน้ำฝนเข้าถึง เพราะอาจจะทำให้เสื่อมสภาพเร็วกว่าอายุการใช้งาน และไม่ติดตั้งในห้องที่ล็อคกุญแจที่ทำให้ยากต่อการเข้าถึงเพื่อนำมาใช้ ทั้งนี้ เจ้าของหรือผู้ดูแลอาคารควรจัดให้มีบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลสถานที่ อาทิ รปภ. มีการตรวจตราเครื่อง AED ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงควรจัดให้มีการอบรมให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ที่มาใช้บริการอาคารให้รู้จักวิธีใช้เครื่องอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp