มข.เสนอผลงานวิจัยผ่าน รัฐไฟเขียวผู้ป่วยบัตรทอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง

150

มิติหุ้น  –  รศ.นพ. พิชเยนทร์ ดวงทองพล  แพทย์ผู้เชียวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เป็นโรคที่คนไข้จะมาพบแพทย์เมื่อมีภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งอยู่ในภาวะเร่งด่วนในการรักษา และมีโอกาสเส้นเลือดจะแตกซ้ำได้สูง  อันจะนำมาสู่การเสียชีวิตหรือพิการ  สำหรับวิธีการรักษาจะมีการผ่าตัดเพื่อหนีบกระเปาะหลอดเลือดโป่งพองนั้น (Clipping) หรือใส่ขดลวดสปริง (Coiling) ขึ้นอยู่กับรอยโรคของผู้ป่วย   ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง ที่ได้ผลดี มีบาดแผลน้อย สามารถทำได้ในบริเวณที่ผ่าตัดได้ยาก แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง   ที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในประเทศไทย ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงต้องผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการรักษาออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะพิการและชีวิตสูง ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณการดูแลประชากรผู้ป่วยของรัฐ

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง จึงได้ผลิต งานวิจัย เรื่อง ความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดขึ้น   โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส)  โดยทีมนักวิจัย ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจากผู้ป่วยในประเทศไทย กว่า 10 ปี และเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กว่า 5 ปี  เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดมีความคุ้มค่า และลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตได้

          “งานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด  ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยเมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยแล้ว จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมของ สปสช.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย รศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี  เป็นผู้นำเสนอให้เห็นถึงความคุ้มของการรักษาพยาบาลประชาชนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยวิธีใส่ขดลวด  จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบ ผ่านการอนุมัติให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถเบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัดโดยวิธีการใส่ขดลวด (Coiling) ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีประกาศว่า ให้ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองแล้วแตกต้องทำการผ่าตัดโดยใช้วิธีใส่ขดลวด สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ เส้นละ กว่า10,000 บาท หรือ 1 คนจะใช้ ประมาณ 4 เส้น สามารถเบิกจ่ายได้กว่า 50,000 บาท จากปกติผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่สามารถเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีใส่ขดลวดได้เลยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 100,000 บาท ”

             ด้าน รศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี แพทย์ผู้เชียวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์  เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ก่อตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีจำนวนมากกว่า 100 ราย ที่ต้องรับการผ่าตัด แต่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการใส่ขดลวดได้แค่ 10 % เท่านั้น  เนื่องจาก ค่าผ่าตัดแบบใส่ขดลวดจะมีค่าใช้จ่ายเกือบหนึ่งแสนบาท ที่เป็นปัญหาสำหรับประชาชนผู้มีความยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้  ดังนั้น  ข้อจำกัดที่ความยากจนจึงได้ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อเป็นโจทย์ของงานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด พบว่า  ผลการศึกษาของการรักษาเมื่อรักษาโดยการใช้ขดลวด มีความคุ้มในด้านค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด เมื่อเทียบกับผลการรักษาหรือค่าใช้จ่ายหากเกิดความพิการขึ้น” ส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of NeuroInterventional Surgery ในระดับ Q1 Impact factor 5.836

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถเบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัดโดยวิธีการใส่ขดลวด (Coiling) ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป นับว่างานวิจัย ความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนผู้มีข้อจำกัดในค่ารักษาพยาบาล  โดยมี ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานสำคัญในการร่วมผลักดันโครงการ จนเกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดีต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้เข้าถึงบริการเพื่อสุขภาพโดยไม่มีข้อจำกัด

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp