บี จิสติกส์ เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปี 65 เสนอบอร์ด เผย Master Plan โฟกัสการเติบโตยั่งยืน เน้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนขนส่ง หวังเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร ปูพรมขยายฐานลูกค้าใหม่ รุกเพิ่มกลุ่มอีคอมเมิร์ซ นอกเหนือจากความร่วมมือกับลาซาด้า ในการให้บริการขนส่งสินค้าในกรุงเทพ-ปริมณฑลมั่นใจโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังเติบโตตามเป้าหมาย ตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสม 84 ล้านบาทภายใน 1-2 ปี
ดร.ปัญญา บุญญาภิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด(มหาชน) หรือ B เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Master Plan) ของปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะเสนอบอร์ดภายในเดือนนี้ แผนหลักของบริษัทจะให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักคือการให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเป้าหมายสำคัญก็คือการเติบโตที่ยั่งยืน รวมทั้งบริหารจัดการขนส่งและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้จะมีการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์เข้ามาเสริม เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับบริษัท
ดร.ปัญญา กล่าวต่อว่า ธุรกิจหลักของ B คือการให้บริการขนส่งครบวงจร ก็ยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 80 % ของรายได้รวม และที่เหลือจะเป็นรายได้จากการลงทุนอื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) เข้ามาเสริม ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับบริษัท และช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเน้นการลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
สำหรับภาพรวมธุรกิจให้บริการขนส่ง บริษัทมีจำนวนรถหัวลากอยู่ที่ 37 คัน นอกจากนี้จะมีการใช้บริการซับคอนแทรคที่เป็นพันธมิตรของบริษัทอีกประมาณ 100 คัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ รถหัวลากได้เพียงพอ ปัจจุบันบริษัทได้มีการขยายฐานลูกค้าไปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะเป็นกลุ่มลุกค้าที่มีความต้องการใช้บริการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้บริษัทเตรียมที่จะขยายเพิ่มกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ นอกเหนือจากความร่วมมือกับทางลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด ในการให้บริการขนส่งสินค้าในกรุงเทพ-ปริมณฑล เนื่องจากมองว่ากลุ่มอีคอมเมิร์ซเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และมีความต้องการใช้บริการขนส่งสูง
สำหรับภาพรวมการลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนในเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 2 โครงการคือ โครงการโซลาร์ฟาร์ม SPP ภายใต้บริษัทย่อยสยาม โซลาร์ ที่อยู่ในชัยภูมิ กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ โดยได้ COD ไปแล้วตั้งแต่ปี 56 และโครงการโซลาร์ฟาร์ม ในประเทศเวียดนาม ที่บริษัทเข้าไปร่วมลงทุน กำลังการผลิต 29 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ COD ไปแล้วเมื่อปี 63 ที่ผ่านมา โดยที่ทั้ง 2 โครงการถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เสริมเข้ามาให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ได้ลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำดิบ โดยเข้าไปถือหุ้น 51% ในบริษัท เทพฤทธา จำกัด
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลทยอยปลดล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย นี้ จะส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์สดใสมากขึ้น รวมทั้งจะมีการรับรู้รายได้ในส่วนของธุรกิจผลิตน้ำดิบเพิ่มขึ้น จากฤดูฝนในปีนี้ได้เติมน้ำเข้าบ่ออีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำดิบเพื่อส่งจำหน่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้รายได้เติบโตตามเป้าหมายที่ 10-15%
“แผนยุทธศาสตร์ปี 65 จะช่วยขับเคลื่อนให้ B มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะปัจจุบันสถานะของบริษัทมีความพร้อมในการขยายธุรกิจเต็มที่ ฐานะการเงินก็มีความแข็งแกร่ง สัดส่วนหน้าสินต่อทุนเหลือแค่ 0.18 เท่า ตอนนี้บริษัทแทบไม่มีเงินกู้ยืม ภาวะดอกเบี้ยก็น้อย ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิกว่า 98 ล้านบาท เติบโตกว่า 688% ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทและก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง บริษัทตั้งเป้าหมายภายใน 1-2 ปี บริษัทจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่อยู่ราว 84 ล้านบาท ได้ทั้งหมด” ดร. ปัญญากล่าว
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp