หากจะหาธุรกิจเรือธงและรับผลดีกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว หนึ่งในธุรกิจดาวเด่นและยังสามารถเติบโตได้ในสถานการณ์เช่นนี้นั่นก็คือ “ธุรกิจลิสซิ่ง” โดยเฉพาะ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ซึ่งมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งกับธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยแนวคิด “ใคร ๆก็กู้ได้”
ธุรกิจสินเชื่อครบวงจร
โดยธุรกิจของบริษัทฯ ประกอบได้ด้วยสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ได้แก่ (1) สินเชื่อเช่าซื้อ (2) สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และ (3) สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ (1) สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และ (2) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิตผ่านเครือข่ายสาขาให้แก่บริษัทประกันชั้นนำ 6 บริษัท ครอบคลุม ประกันรถยนต์ ประกันรถจักรยานยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เป็นต้น
จุดเด่นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
พร้อมนำความเชี่ยวชาญของ 4 กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตภาคเหนือ ประสบการณ์กว่า 20 ปี ประกอบด้วย กลุ่มทวีเฮง กลุ่มพัฒนสิน กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์ และกลุ่มสินปราณี จนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน พร้อมด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่งจากผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองและนายหน้ากว่า 5,100 ราย ซึ่งเปรียบเสมือนจุดขายที่กระจายตัวเป็นวงกว้าง เพื่อเป้าหมายเป็นผู้นำในการให้บริการสินเชื่อไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ จากปัจจุบัน HENG ถือเป็นรายใหญ่ด้านผู้ให้บริการสินเชื่อในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบกับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ/ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นขึ้นช่วงปี 2561-2563 อย่างต่อเนื่องจาก 7,617 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8,038 ล้านบาท และ 8,277 ล้านบาท โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาทและ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับโดยสินเชื่อหลักของบริษัทฯ คือ สินเชื่อเช่าซื้อ
ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ 1.48 หมื่นลบ.
“บริษัทฯ มีแผนเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ผ่านการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน Software และ Mobile Application เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ ควบคู่กับการขยายสาขา ‘เฮงลิสซิ่ง’ ในภูมิภาคต่าง ๆ จากปัจจุบัน ณ 30 มิถุนายน 2564 มีทั้งสิ้น 451 สาขา โดยในปี 2566 วางแผนจะขยายเพิ่มเป็น 830 สาขา เพื่อครอบคลุมฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มเป็น 14,800 ล้านบาท” นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว
คาดได้เงินจาก IPO ราว 1.56 พันลบ.
โดยบริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 800,837,300 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 21.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.95 บาท คาดระดมทุนเงินได้ครั้งนี้ 1,561,632,735 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญ) เพื่อนำเงินไปขยายการให้บริการสินเชื่อ ขยายสาขา รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ช่วงปี 64-66 คาดใช้เงิน1,134.8-1,014.8 ล้านบาท, ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงิน 300-400 ล้านบาท และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Software และ Mobile Application สำหรับการให้บริการสินเชื่อของบริษัทฯ เป็นต้นราว 70.0-90.0 ล้านบาท
บิ๊กธนาคารพาณิชย์สนใจซื้อหุ้นล็อตใหญ่
ล่าสุดในข้อมูลไฟลิ่งที่มีผลบังคับใช้ระบุว่า ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK แสดงความสนใจเข้าซื้อหุ้นเดิมจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มทวีเฮง และ กลุ่มพัฒนสิน ผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (BIG – LOT BOARD) จำนวน 381 ล้านหุ้นในราคาเดียวกับราคา IPO หรือเท่ากับ 1.95 บาท ภายหลังจากการทำรายการดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น HENG ในสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นภายหลังการ IPO นอกจากนี้ ตามสัญญาซื้อขายหุ้น KBANK ยังตกลงไม่ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยสามารถขายหุ้นได้ 25% ของหุ้นที่ถูกห้ามขาย เมื่อครบกำหนด 6 เดือน คาดว่ารายการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันแรกของการซื้อขายหุ้น อังคารที่ 19 ตุลาคม นี้
กลายเป็นหุ้นเนื้อหอมที่สถาบันการเงินสนใจเข้าถือหุ้นใหญ่ก็น่าจะการันตีความน่าสนใจของ HENG อยู่ไม่น้อยทีเดียว!!!
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้