มิติหุ้น – เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และจากมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้
การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาช่วยชดเชยรายได้และพยุงกำลังซื้อไว้บางส่วน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโดยรวมยังได้รับผลจากข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และจากการส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าซึ่งชะลอลงตามการระบาดในต่างประเทศที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงและสัดส่วนของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นตามลำดับ รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป จะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนโยบายสนับสนุนของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประคับประคองให้ทุกภาคส่วนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้
ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยสำหรับ 9 เดือน ปี 2564
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือน ปี 2564 จำนวน 20,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.10 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ รวมถึงกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 48.4 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาปัจจัยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและยังคงมีความไม่แน่นอน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,523,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและยังคงมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 198.9
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จำนวน 3,124,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่มีความไม่แน่นอน
ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 80.8 นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2564 ธนาคารออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.7 ร้อยละ 16.1 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด