มิติหุ้น-กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเผยแนวทางขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญและยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบความยั่งยืน ในงานเสวนาออนไลน์ The Future of Sustainability: Call to Action for Our Sustainable World ซึ่งจัดโดย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และ ProPak Asia
นายประธาน ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และรองประธานคณะกรรมการบริหารอาวุโส บมจ. โอสถสภา ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนาโดยได้ตอกย้ำถึงบทบาทของสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยและผู้ประกอบการผลิตต่างๆ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการร่วมสร้างอนาคตเพื่อคนรุ่นหลัง ด้วยแนวการดำเนินธุรกิจในกรอบความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรสามารถทำได้ และต้องไม่ลังเลที่จะทำ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในโลกที่กำลังร่วมกำหนดอนาคตในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือการประชุม COP26 ที่กำลังจะมาถึง
นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โอสถสภา ได้กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ปัจจุบัน ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแนวทางการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นพันธกิจเพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติสำหรับทุกคน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน และทุกประเทศในโลก เมื่อกรอบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลต่อแนวทางการวัดความสำเร็จทางธุรกิจ ที่ไม่ใช่เพียง “กำไรสุทธิ” แต่ต้องให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่สมดุลใน 3 ด้าน ได้แก่ “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม” ดังเช่นที่โอสถสภาได้วางรากฐานที่มั่นคงและสร้างการเติบโตทางธุรกิจตามกลยุทธ์เสาหลัก 3 + 1 ได้แก่ 1) เสาหลักด้านธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับธุรกิจของโอสถสภาและคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า 2) เสาหลักด้านสังคม ซึ่งมุ่งสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมพนักงานในองค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยโครงการที่มุ่งพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนในสังคม 3) เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งมั่นลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสาหลักทั้งสามนี้มีบุคลากรในองค์กร (People) เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อน โดยให้ความสำคัญใน 5 ด้านได้แก่ การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน การจัดการพลังงานและการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการตั้งเป้าในการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ลดการนำเข้าและเพิ่มการใช้วัตถุดิบสมุนไพรภายในประเทศ การลดปริมาณน้ำตาลในสินค้าสำหรับบริโภค และการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าในเครือทั้งหมดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้
“ปัจจุบัน ความยั่งยืนไม่ได้เป็นทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นพันธกิจที่ทุกคน ทุกองค์กรต้องไม่เพิกเฉย การใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจต้องไม่นึกถึงแต่ตัวเงินเป็นหลัก แต่ต้องมีการวางแผนระยะยาว คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาในอนาคต มองไปถึงคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าต่างคนต่างทำ แต่จะประสบความสำเร็จเมื่อมีการร่วมมือและรวมพลังของทุกๆ หน่วยของสังคม ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยั่งยืน การสื่อสารเกี่ยวกับความยั่งยืนไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างการตระหนักรู้ ชี้นำแนวทางภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างทวีคูณ” นางวรรณิภากล่าว
คุณนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ว่า กว่า 60 ปี ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินธุรกิจนั้นได้มีโครงการมากมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาตลอด จนกระทั่งในวันนี้ที่ความยั่งยืนได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนของโลก บริษัทได้ผสานแผนงานด้านความยั่งยืนและแผนงานทางธุรกิจเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้นขึ้นโดยคำนึงถึงชุมชน สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสียตลอดเส้นทางการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังได้ปลูกฝังแนวคิดด้านความยั่งยืนให้กับพนักงานทุกระดับในองค์กรผ่านทางงานที่ทำในทุกวัน
“ความยั่งยืนที่แท้จริงไม่ใช่เรื่ององค์กรใดองค์กรหนึ่ง และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนบนโลกใบนี้ TCP ยังคงทำงานอย่างหนักร่วมกันกับภาคีทางธุรกิจและหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดความยั่งยืนได้ตามเป้าหมายขององค์กร” คุณนุชรี กล่าวย้ำในตอนท้าย
ปัจจุบันแผนงานตามกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนต่างๆ ของ TCP 3 เสาหลัก คือ Integrity Quality และ Harmony คืบหน้าตามเป้าหมายและมีความท้าทายต่างกันไป โดยเราจะติดตามและรายงานผลความคืบหน้าทุกปีบนเว็บไซต์ของเรา www.tcp.com
คุณทาเคโอะ อิชิทากะ กรรมการผู้จัดการบริษัท โตโย ไซกัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ว่า “การบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นตัวชี้วัดที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดในเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างการลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น เครื่องดื่มที่บรรจุในขวดหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ขวดหรือบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่ของมันเมื่อมีการบรรจุหรือนำสิ่งของไปใส่ข้างใน เมื่อไหร่ก็ตามที่ของที่อยู่ข้างในหมดไปบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะหรือสิ่งที่ไร้ค่า แต่ในยุคปัจจุบันแทนที่จะมองว่าบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้แล้วเป็นขยะหรือสิ่งที่ไร้ค่า เราควรจะทำให้กลับมามีมูลค่าหรือมีบทบาทใหม่ โดยการนำกลับมาใช้ หรือนำไปรีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนของเสียไปเป็นทรัพยากรที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป”
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp