มิติหุ้น – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง พร้อมทอดพระเนตรอาคารเรียนรู้ พื้นที่ป่านิเวศ พื้นที่เกษตรกรรม และนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้บริหาร ปตท. และพนักงานเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
นายอรรถพล กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ปตท. ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 154 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา ตั้งอยู่ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย ต่อมาในปี 2561 ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาที่ดินดังกล่าว เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ แก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ทรงพระราชทานนามว่า “ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” โดย ปตท. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนองพระราชดำริในการดำเนินดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2561 จนแล้วเสร็จใน 2564 พร้อมน้อมเกล้าฯ ถวาย “อาคารเรียนรู้ สิ่งปลูกสร้างและส่วนควบบนที่ดินที่เสร็จสมบูรณ์ในศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต” เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 65 พรรษา ประกอบด้วยการดำเนินงาน ดังนี้
งานอาคาร แหล่งน้ำ และระบบสาธารณูปโภค ประกอบด้วย อาคารการเรียนรู้ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า “อาคารรัตนเกษตร” กลุ่มอาคารจัดการผลผลิตการเกษตร อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ อาคารสาธารณูปโภค ป้อมรักษาความปลอดภัย และอาคารห้องน้ำ พัฒนาบ่อเก็บน้ำจำนวน 2 บ่อ ความจุรวม 110,400 ลูกบาศก์เมตร ดำเนินการติดตั้ง Solar Floating พร้อมระบบรดน้ำเพื่อการเกษตร และพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ
งานพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ ประกอบด้วย โรงเรือนเพาะเมล็ดและโรงเรือนเพาะปลูก จำนวน 14 หลัง พื้นที่ปลูกไม้ผลและกาแฟ พื้นที่รวม 40 ไร่ โดยปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดรวม 8 แปลง แปลงสาธิตสวนสมรม สวนกาแฟร่วมยางพารา และสวนกาแฟร่วมมะม่วงหิมพานต์ และการจัดการผลผลิตยางพาราในพื้นที่ร่วมกับชุมชน โดยรายได้ส่วนหนึ่งได้นำส่งเข้าสู่มูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อสถาบันการศึกษาในเครือจิตรลดา
งานอนุรักษ์และพื้นฟูระบบนิเวศ ประกอบด้วย งานฟื้นฟูป่านิเวศ พื้นที่ 20.45 ไร่ เป็นแนว Protection Stripe รอบโครงการ ปลูกป่าโดยประยุกต์ใช้แนวคิดการปลูกป่าแบบมิยาวากิ คัดเลือกพันธุ์ไม้ป่า 3 ชั้นเรือนยอด จำนวน 145 ชนิด รวม 21,886 ต้น การประยุกต์ใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ บริเวณรอบบ่อน้ำ แปลงไม้ผล รวมถึงพื้นที่ลาดชันภายในศูนย์เรียนรู้ฯ และการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุในแปลงเกษตรกรรม
สำหรับการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตนี้ ปตท. และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้รับความร่วมมืออันดีจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) โดยมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ให้การสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรเกษตรนวัต
ในวโรกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี พระราชปฏิสันถารกับผู้บริหาร ปตท. ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ณ อาคารรัตนเกษตร และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับหน่วยงานราชการ คณะผู้บริหาร ปตท. ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โครงการหลักสูตร ทวิศึกษา และนักเรียนหลักสูตรเกษตรนวัต