WHAUP ทุ่มงบ 25 ล้านบาท นำร่องโครงการโซล่าร์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ลดต้นทุนและเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงาน

107

 

มิติหุ้น-บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) โชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำในการให้บริการสาธารณูปโภคและไฟฟ้าครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรม ล่าสุดเปิดตัวโครงการ Solar Rooftop ขนาด 820 KWp พ่วง ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Battery Energy Storage System (BESS) ขนาด 550 KWh เพื่อจ่ายไฟให้กับระบบสาธารณูปโภค ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ชี้ COD ไปแล้วช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ระบุช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้ประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อย CO2 Offset สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 10,500 ตัน

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า โครงการโซลาร์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน บนหลังคาและในพื้นที่ของโรงกรองน้ำของบริษัทฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมอีเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ซึ่งมีขนาดการผลิตไฟฟ้า 820 KWp และความจุระบบกักเก็บพลังงาน 550 KWh ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เงินลงทุนโครงการทั้งสิ้น จำนวน 25 ล้านบาท โดยเป็นการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟให้กับโรงกรองน้ำ โดยระบบ Battery ESS จะเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเอาไว้ และจะนำพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ในช่วงที่ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของโรงกรองน้ำ จึงทำให้สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และประหยัดต้นทุนด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

สำหรับโครงการโซลาร์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานนี้มี สามารถประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน ได้ประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี และยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Offset) ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ได้ถึง 10,500 ตัน ตามนโยบายรักษ์โลก ลดโลกร้อน และลดการเกิดภาวะเรือนกระจก โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้Solar Rooftop เป็นโครงการที่ถือได้ว่าตอบโจทย์นโยบายรักษ์โลกได้ดีที่สุด และยังติดตั้งได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เหมาะกับประเทศไทยที่มีแสงแดดหลายชั่วโมง

ด้วยเหตุที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการกักเก็บพลังงาน ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถพึ่งพาการผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้เพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลอยู่ แต่เมื่อเทคโนโลยี Battery ESS พัฒนาขึ้นไป และมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงช่วยให้แก้ปัญหา หรือข้อจำกัดดังกล่าวได้

WHAUP เชื่อมั่นว่าอีกไม่นาน Battery ESS จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดย WHAUP เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของนำระบบการกักเก็บพลังงานมาใช้ จึงเร่งพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน Solar Rooftop และ Battery ESS เพื่อสำหรับตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในอนาคต

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มลูกค้า ในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออย่างต่อเนื่อง และได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบ Battery ESS  ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีมูลค่าการผลิตและต้องการเสถียรภาพด้านพลังงานสูง พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำระบบ Smart  Microgrid ซึ่งบริษัทฯ ได้ศึกษาบางส่วนแล้ว เพื่อนำมาใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เพื่อรองรับการให้บริการ Solar และ Battery ESS ในระยะยาวเพิ่มขึ้น  อีกทั้งช่วยลดต้นทุนพลังงาน และมีพลังงานใช้ได้อย่างมีเสถียรภาพ (reliability)

อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งมั่นในการเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการ ในพื้นที่อุตสาหกรรมฯ และเพิ่มโอกาสการลงทุนของบริษัทฯ ส่งผลให้  WHAUP เร่งขยายการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สิ้นไตรมาส 3 /2564 บริษัทฯได้มีการเปิดดำเนินการจ่ายไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น กว่า 50 เมกะวัตต์  และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมแล้ว 85  เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี และได้วางเป้าหมายขยายการให้บริการธุรกิจ Solar Rooftop ในปี 2566 ได้ครบ 300 เมกะวัตต์  ทั้งนี้หากบริษัทฯ ทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะยิ่งตอกย้ำศักยภาพในความเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงานอย่างครบวงจร ให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp