ปตท.สผ. คาดเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ต้นปี 2565 หลังเผชิญความล่าช้ามากว่า 2 ปี พร้อมปรับแผนการผลิตก๊าซฯ ลดผลกระทบกับประเทศ

38

มิติหุ้น – ปตท.สผ. เตรียมลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่แปลง G1/61 หรือ แหล่งเอราวัณ กับผู้รับสัมปทานปัจจุบันภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าเข้าพื้นที่ได้ในเดือนมกราคม 2565 หลังล่าช้ามากว่า ปี ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อการผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต แม้พยายามปรับแผนงานทุกขั้นตอนอย่างเต็มความสามารถ ยังต้องใช้เวลาอีกราว 24 เดือน จึงจะผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญาฯ ขณะนี้ กำลังเตรียมตัวในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตเป็นไปด้วยความราบรื่นและปลอดภัย

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณว่า ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนในการลงนามสัญญาต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณ โดยจะมีการลงนามในสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ได้แก่ 1. ข้อตกลงเพื่อเข้าพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของสิ่งติดตั้งที่รัฐจะรับมอบ (Operations Transfer Agreement)  2. ข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2) และ 3. สัญญาเพื่อให้ผู้รับสัมปทานเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนในช่วงสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Asset Retirement Access Agreement)  ซึ่ง ปตท.สผ. คาดว่าจะมีการลงนามดังกล่าวได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ และสามารถเข้าพื้นที่เแหล่งเอราวัณเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ได้ในเดือนมกราคม 2565

ก่อนหน้านี้  ปตท.สผ. ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันให้เข้าพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ติดตั้งแท่น เจาะหลุมผลิต เชื่อมต่อท่อเข้ากับระบบการผลิตกลางในแหล่งเอราวัณ สำหรับเตรียมการผลิตก๊าซฯ เป็นการล่วงหน้าได้ โดยล่าช้ามาเป็นเวลากว่า 2 ปี และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่ง ปตท.สผ. ได้พยายามปรับแผนงานทุกขั้นตอนมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเร็วที่สุดหากเข้าพื้นที่ได้ ได้แก่ การก่อสร้างแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น การจัดเตรียมท่อส่งก๊าซและเรือติดตั้ง รวมถึง การขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขินเพื่อให้การเคลื่อนย้ายแท่นหลุมผลิตจากฝั่งไปที่แหล่งเอราวัณได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะสามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเดือนมกราคม 2565 บริษัทจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 24 เดือน ในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิต แท่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม จึงจะสามารถผลิตก๊าซฯ ได้ครบจากทั้ง 8 แท่น เพื่อทำให้กำลังการผลิตในแหล่งเอราวัณขึ้นถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ทั้งนี้ หลังจากสัมปทานแหล่งเอราวัณหมดอายุลง และเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตโดยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) นั้น ในระยะแรกของการผลิตก๊าซฯ จำเป็นต้องผลิตตามศักยภาพที่ผู้รับสัมปทานคงเหลือไว้ เพื่อความปลอดภัยกับการผลิตก๊าซฯ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์การผลิตเนื่องจากผู้รับสัมปทานหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ มาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระดับการผลิตลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการใช้พลังงานของคนไทยและประเทศ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับความร่วมมือในการเข้าพื้นที่ แต่เราไม่เคยนิ่งนอนใจ เราเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่สามารถทำได้มาตลอด ปีที่ผ่านมา ใช้เม็ดเงินไปแล้วถึง 10,000 ล้านบาท ในการเตรียมงานส่วนที่จะต้องเข้าพื้นที่ล่วงหน้า หากวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้น ปตท.สผ. ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป แม้จะไม่สามารถทำให้การผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่เราจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานกับประเทศให้ได้มากที่สุด นายมนตรีกล่าว

สำหรับระยะเวลา 5 เดือนจากนี้ ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในวันที่    24 เมษายน 2565 บริษัทจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการ (Operations Transfer) ซึ่งครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การทดสอบสิ่งติดตั้งเดิมในแหล่งเอราวัณที่รัฐจะต้องรับมอบจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน และส่งให้กับ ปตท.สผ. เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ด้วยความราบรื่นและปลอดภัย รวมทั้ง การถ่ายโอนข้อมูลที่มีผลต่อการผลิต ระบบความคุมการผลิต การทำงานของอุปกรณ์การผลิตและการบำรุงรักษา ระบบปฏิบัติการและการขนส่งนอกชายฝั่ง ระบบความปลอดภัย เป็นต้น

ส่วนแผนการรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงที่แหล่งเอราวัณภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตอยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตแบบขั้นบันไดภายในระยะเวลา 24 เดือน เพื่อให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ปตท.สผ. ได้เตรียมผลิตก๊าซฯ จากโครงการบงกช และโครงการอาทิตย์ เพิ่มเติมอีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กล่าวมา และเพื่อตอบสนองการใช้พลังงานของประเทศ ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคงหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิตก๊าซฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตจากสาเหตุที่ได้กล่าวข้างต้น

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp