สยามราชธานี SO ชี้หลังเข้าตลาดหุ้นมากว่า 1 ปี ได้รับผลตอบรับเกินคาด

173

มิติหุ้น   –  นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยถึงภาพรวมบริษัทหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตั้งแต่ 14 ต.ค. 2563 ว่า ตลอดระยะกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา หลังบริษัทระดมทุนเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) นอกจากเม็ดเงินระดมทุนที่ได้มา บริษัทได้นำไปใช้ในการขยายกิจการตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่ขายไอพีโอแล้ว การที่ SO เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังนำมาซึ่งโอกาสในทางธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การได้พันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเกิดขึ้น การเสริมสภาพคล่องให้บริษัทได้เข้าไปศึกษาและเริ่มลงทุนในการควบรวมกิจการ (M&A) หรือลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ และที่สำคัญถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนในตลาดหุ้น

“บริษัทมีการปรับโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามารองรับการดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการบริการ สร้างความได้เปรียบทางด้านการตลาด และช่วยลูกค้าให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนิวนอร์มอล เช่น  การใช้ระบบลงเวลา (Tiktrack) เก็บข้อมูลการลงเวลา การลางาน การทำงานล่วงเวลา หรือเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งทำให้ลูกค้ายังเห็นข้อมูลได้ทันท่วงที (Real-time) และทำให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันที่ต้องการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ดีมาควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน”นายณัฐพลกล่าว

ที่ผ่านมาสยามราชธานีมีการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจอีกมากมาย เช่น การเซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ศึกษาขั้นตอนและความเป็นไปได้การควบรวมกิจการ (M&A) กับกลุ่มบริษัท ADI Thailand ซึ่งประกอบธุรกิจกิจการเกี่ยวกับการบริการจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Staff Outsourcing) และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Consulting Services) ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตอบโจทย์แผนของ SO ในการขยายตลาดและกลุ่มลูกค้า ที่ ณ ปัจจุบันมีความต้องการเอาเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ

นอกจากนั้น ยังได้เซ็น MOU เป็นพันธมิตรความร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ SO ได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระดับโลก (Technology Global) ที่สำคัญ Huawei จะช่วยให้สยามราชธานีเป็นที่รู้จักและจับมือร่วมกันเพื่อขยายตลาดทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ได้มากขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางด้านเทคโนโลยีซึ่งถือว่าสำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดย SO พร้อมเข้าไปลงทุนและสนับสนุนสตาร์อัพที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะเติบโตในอนาคต เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้ามาสร้างระบบนิเวศ (Eco System) และมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจหรือในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตในอนาคตยุคนิวนอร์มอลต่อไป

ทั้งนี้ ล่าสุด SO ได้เข้าไปลงทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์1  หรือกองทุนสตาร์ทอัพกองแรกของไทยที่ตั้งโดยกรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งมีขนาดกองทุนอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นนโยบายของกองทุนสอดคล้องกับนโยบายหลักของสยามราชธานีที่ต้องการเพิ่มโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เป็นเทรนด์การเติบโตในอนาคต โดยกองทุนนี้เน้นลงทุนสตาร์ทอัพทั้งในไทยและอาเซียนที่มีศักยภาพ และจะเป็นการเข้าไปลงทุนในระดับซีรี่ส์ A หรือตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ใน 3 ธุรกิจหลักที่คิดน่าจะเป็นโอกาสการเติบโตในกลุ่มประเทศนี้คือ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มออโตโมทีฟ (ยานยนต์)

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการดำเนินงานของสยามราชธานีปี 2565 ยังคงเน้นการเติบโตในปี 2565 อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยพยายามไม่มองอุปสรรคจากสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบันว่าเป็นปัญหา แต่กลับคอยมองหาโอกาส พันธมิตร ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือต่างอุตสาหกรรมที่หากสามารถร่วมมือกันทำงานได้อย่างดีก็พร้อมที่จะใช้แนวทางการร่วมกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งแบบการร่วมทุนทางธุรกิจ หรือการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายตั้งแต่บริษัท Outsource, Software Enterprise และ Professional Training นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp