เฟดเตรียมจัดหนักแต่จะจบอย่างไร

430

ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)และข้อมูลเงินเฟ้อสนับสนุนการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ โดยประธานเฟดระบุชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯพร้อมสำหรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และเฟดตั้งใจที่จะรับประกันว่าอัตราเงินเฟ้อสูงจะไม่ลากยาว ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมของสหรัฐฯพุ่งขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ทางด้านดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานอาจเริ่มคลายตัวลงและอัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานร่วงลงสู่ระดับ 3.9% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดรอบ 22 เดือน สะท้อนว่าสหรัฐฯเข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มที่ และแม้รายได้ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังอยู่ในระดับสูงท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานตึงตัว โดยการขาดแคลนคนงานเป็นผลของการพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ขณะที่กำลังแรงงานในสหรัฐฯลดลง 2.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับระดับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (Labor Force Participation) อยู่ที่ 61.9% ในเดือนธันวาคม เทียบกับ 63.4% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข

 

ภาวะขาดแคลนแรงงานทำให้เฟดกังวลอย่างมากว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันด้านค่าจ้างจะค้างอยู่ที่ระดับสูง ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับใกล้ 0% และการลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์จากระดับเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์อันเป็นผลของโครงการ Quantitative Easing  (กราฟด้านล่าง – ซึ่งมองจากจุดนี้ เฟดกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินจำเป็นและถอนคันเร่งช้าเกินไป) นับเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเฟดและตลาดการเงินในปีนี้ การเร่งปรับนโยบายสู่ภาวะปกติอาจจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพื่อแลกกับเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ในสัปดาห์นี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯประเภทอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทางด้านบอนด์ยิลด์ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 ปีใกล้ระดับ 1.90% โดยหุ้นกลุ่มเทคปรับฐานลงแรงเนื่องจากบอนด์ยิลด์ที่สูงขึ้นบั่นทอนกระแสเงินสดในอนาคตของบริษัทในกลุ่มนี้

 

เรามองว่าบททดสอบครั้งใหญ่สำหรับค่าเงินดอลลาร์อยู่ที่มุมมองของตลาดว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยไปสู่จุดสูงสุดของวัฏจักรนี้ที่ 2.5% ตามที่เฟดเคยประมาณการไว้ได้หรือไม่ โดยในวัฏจักรก่อนหน้านี้เฟดเริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) หลังจากขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกราว 3 ปี แต่ในรอบนี้เฟดเปลี่ยนความคิดที่เคยย้ำมาตลอดหลายเดือนว่าเงินเฟ้อสูงเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และส่งสัญญาณจบโครงการ QE ในไตรมาสปัจจุบัน พร้อมขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และเริ่ม QT ก่อนสิ้นปีนี้ โดยหากเฟดเดินหน้าคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าว จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อสภาวะการเงินและ Wealth Effect ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้แรงขายดอลลาร์ในช่วงต้นปีสะท้อนการปรับสถานะการลงทุนและปัจจัยทางด้านเทคนิค แต่เรามองว่าขาขึ้นของดอลลาร์และความผันผวนยังเปิดกว้างในครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนจะที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปี หากมีความชัดเจนว่าเฟดจะชะลอหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566-2567

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp