ธ. ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2564 จำนวน 2,440.6 ล้านบาท เติบโต 89.1%

31
มิติหุ้น   –  ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,150 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.1 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2563 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 8.1 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 25.7 ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.9
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 14,347.4 ล้านบาท ลดลงจำนวน 579.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 988.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของสินเชื่อลดลง   สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 337.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน   รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 71.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 ลดลงจำนวน 723.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.1 เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น      ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 57.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 59.6
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ
วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 211.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 233.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.1 จากสิ้นปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 250.9  พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90.9 จากร้อยละ 90.5  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 117.5  เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.3  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.3 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 54.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22.4 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.3

 

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp