ศูนย์ FLEC โชว์ความสำเร็จเฟสแรก โมเดลบูรณาการ 5 องค์กร – 5 ปี

31
มิติหุ้น  –  ด้วยความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU และเพื่อขจัดและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคการประมงไทย จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ FLEC) ขึ้น ซึ่งโชว์ความสำเร็จการดำเนินงานในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 ได้มีส่วนขับเคลื่อนการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อยุติปัญหาการใช้แรงงานทาสในเรือประมง รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวอย่างมั่นคง  ส่งผลให้ศูนย์ฯ ได้รับการยอมรับ เป็นองค์กรต้นแบบการพลังภาครัฐ องค์กรอิสระ และเอกชน แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ชูความสำเร็จ มาจากการรวมพลังของ 5 หน่วยงานมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานและครอบครัวเป็นสำคัญ
นางสาวนาตยา เพชรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า การดำเนินงาน ศูนย์ FLEC ในระยะที่ 1 (2558-2563 ) ได้บูรณาการความร่วมมือจาก 5 องค์กร ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพชีวิตแรงงานประมง และสมาชิกในครอบครัวของแรงงานดีขึ้น เป็นศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร เพื่อช่วยเหลือแรงงานบนเรือประมงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม และสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล และการศึกษาของบุตรหลาน รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน นอกจากนี้  ศูนย์ฯ สามารถสร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร 6,500 คน ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและนำข่าวสารที่เป็นประโยชน์มาให้แรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์หรือการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกประเภท ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยการแก้ปัญหาและป้องกันการค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมง ในจังหวัดสงขลามีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว
นางสาวนาตยา กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของศูนย์ FLEC เป็นโมเดลการบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และขับเคลื่อนของภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคเอกชน สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถสื่อสารด้วยภาษากับแรงงาน เพื่อให้แรงงานและครอบครัวในอุตสาหกรรมประมงได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลการทำงานทุกปี ช่วยให้ศูนย์สามารถปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมและตามความต้องการของกลุ่มแรงงาน และบรรลุเป้าหมายของศูนย์ฯ ทั้งการให้ความรู้การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานและการแจกกล่องยาให้แก่ลูกเรือถึงเรือประมง  รวมทั้งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์ฯ ได้ปรับรูปแบบโดยเข้าลงไปให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคระบาดให้แก่แรงงานและครอบครัว รวมทั้งมอบอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัย แอลกอฮอร์เจล เพื่อให้แรงงานสามารถมีชีวิตได้อย่างปลอดภัย
จากการดำเนินงานของศูนย์ FLEC ในระยะที่ 1 ได้ช่วยให้แรงงานและครอบครัวให้ ประมาณ 15,000 คนในจังหวัดสงขลาได้เข้าถึงการช่วยเหลือเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   โดยการทำงานของศูนย์ฯ ครอบคลุม การเปิดศูนย์ฯ เพื่อให้บริการด้านต่างๆ แก่แรงงาน ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การให้คำปรึกษาด้านต่างๆ แก่แรงงานข้ามชาติในการดำรงชีวิตในจังหวัดสงขลา การส่งเสริมดูแลสุขภาพแรงงานที่อยู่บนเรือประมงได้เข้าถึงยาขั้นพื้นฐานกว่า 5,000 รายบนเรือประมงกว่า 100 ลำ  นอกจากนี้ มีบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ 263 คนได้มีโอกาสเรียนหนังสืออ่านออกเขียนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าระบบการศึกษา จนถึงสามารถส่งเด็กเข้าเรียนการเข้าเรียนของโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดสงขลาได้ 22 คน ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากแรงงานประมง ประมงเกี่ยวเนื่อง และครอบครัว รวมถึงนายจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการให้ความร่วมมือ และเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของศูนย์ฯ อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ศูนย์ FLEC เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหา IUU และการค้ามนุษย์  โดยมีองค์กรในระดับประเทศ และระดับโลก เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของศูนย์ฯ ขณะเดียวกัน จากความสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์ฯ มีส่วนร่วมช่วยให้สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองกรณี IUU Fishing โดยซีพีเอฟได้ร่วมมนำเสนอประสบการณ์เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจผ่านสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ ในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และส่งผลให้ซีพีเอฟได้รับการประเมินจาก Global Child Forum 2020 เป็นธุรกิจที่เคารพสิทธิเด็ก เป็นผลจากความร่วมมือดำเนินงานศูนย์ FLEC อีกด้วย
ทั้งนี้ 5 องค์กรร่วมก่อตั้งศูนย์ FLEC เตรียมสานต่อการดำเนิน ศูนย์ FLEC ในระยะที่ 2 (ปี 2564 – 2568 ) ขยายภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน กับ 2 องค์กรชั้นนำ อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อลดปริมาณขยะทะเล เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป

 

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp