ส่องตลาดรถหรูในไทย…โอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง

311

มิติหุ้น   –  การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายรถยนต์ทั่วโลกหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่จากข้อมูลพบว่ายอดขายรถยนต์หรูในทุกภูมิภาคกลับได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพบว่ายอดขายรถยนต์หรูยังคงสามารถเติบโตสวนทางกับยอดขายรถยนต์ประเภทอื่น ๆ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของยอดขายรถหรูในตลาดหลักอย่างจีน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจีน
ที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติ COVID-19

ตลาดรถยนต์หรูในไทยได้รับปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์ของตลาดรถยนต์หรูในไทยนั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าเช่นเดียวกัน โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของประเภทรถหรูในปี 2020 หดตัวเพียง -6.4%YOY เทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่หดตัวสูงถึง -24.1%YOY ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเซ็กเมนต์รถหรู คือผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณเงินฝากในระบบในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้น 9.9%YOY ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทเป็นหลัก (56.7%) สะท้อนถึงศักยภาพ
และกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรถยนต์หรูในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเรายังคงเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้น
ของปริมาณเงินฝากในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในปี 2021 ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งผลต่อตลาดรถยนต์หรูชัดเจนขึ้น

สถานการณ์ในปี 2021 กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดย EIC พบว่าตลาดรถยนต์หรูได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรูที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจำนวนมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์หรูได้ตามแผนที่วางไว้แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์หรูของไทยในปี 2021 ที่หดตัว
-9.5%YOY ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์ทั่วไปหดตัว -4.4%YOY

ตลาดรถยนต์หรูของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในปี 2022

สำหรับแนวโน้มในปี 2022 นั้น EIC คาดว่ายอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของรถยนต์หรูจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 14%YOY ตามการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในทุกระดับ รวมถึงปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้จากการคาดการณ์ของผู้ประกอบการและสำนักวิจัย IHS Markit

การแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้เล่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของค่ายรถยนต์ (Official dealer) จะมีข้อได้เปรียบมากกว่ากลุ่มผู้นำเข้าอิสระ (Grey market) ทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นจากการที่รถยนต์หรูบางแบรนด์ได้เข้ามาจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย รวมถึงปรับปรุงการให้บริการหลังการขายเพื่อตอบโจทย์การให้บริการผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการขยายระยะเวลาของโปรแกรมการบำรุงรักษาให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม

การตอบโจทย์เทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนไปคือความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเตรียมรับมือ สำหรับประเด็นความท้าทายและความเสี่ยงของตลาดรถยนต์ทั่วไปและตลาดรถยนต์หรูที่ต้องจับตาในระยะสั้น ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของรถยนต์หรูบางรุ่นที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงประเด็นความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมไปถึงประเด็นความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโจทย์แนวโน้มตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์ในเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้ค่ายรถยนต์หรูต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น หรือแม้แต่เทรนด์ sharing economy ที่อาจช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ Car sharing ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

COVID-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์หรูอย่างไร ?

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและทำให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2020 หดตัวค่อนข้างรุนแรง แต่ EIC กลับพบว่าตลาดรถยนต์หรูได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังมีการเติบโตสวนทางกับภาพรวมของทั้งตลาด ทั้งนี้จากการเปิดเผยข้อมูลของ Market Reports World ซึ่งเป็นสำนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงแนวโน้มตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพการเติบโตไปกับเทรนด์แห่งโลกอนาคต ระบุว่าในปี 2020 ซึ่งเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกหดตัวลงถึงกว่า -15.2%YOY ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ยอดขายรถยนต์หรูทั่วโลกกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยหดตัวเพียง -8.5%YOY และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 4.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น พบว่ายอดขายรถยนต์หรูยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องที่ 6%YOY สวนทางกับยอดขายรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่หดตัว
-10.2%YOY ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

ยอดขายรถยนต์หรูในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว มาจากการเติบโตของยอดขายในจีนซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 84% ของยอดขายรถยนต์หรูทั้งหมดในภูมิภาค ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2020 พบว่ายอดขายรถยนต์หรูในจีนมีอัตราการขยายตัว 8.7%YOY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่รวดเร็วกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ สำหรับแบรนด์รถยนต์หรูที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น คือ Mercedes-Benz และ BMW ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 38.3% และ 27.1% ตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลงบการเงินประจำปี 2020 ของทั้งสองค่ายรถยนต์ดังกล่าวจะพบว่า ทั้ง Mercedes-Benz และ BMW พึ่งพายอดขายจากเอเชียมากที่สุดเช่นเดียวกัน

Box : รถยนต์หรู (Luxury car) คืออะไร?

รถยนต์หรู (Luxury Car) คือรถยนต์ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายและความรู้สึกหรูหราสำหรับผู้ขับขี่เท่านั้น แต่ยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษด้านอื่น ๆ และการให้บริการที่เหนือระดับกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติในเรื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์และประสิทธิภาพในการขับขี่ เช่น กำลังแรงม้าสูงสุด อัตราเร่ง ระบบส่งกำลังหรือเกียร์ ระบบเสียง คุณสมบัติด้านความปลอดภัย ฉนวนกันเสียงรบกวน ฉนวนกันไฟ เป็นต้น รวมไปถึงระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่ช่วยลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ เช่น ระบบเบรกอัตโนมัติ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Auto pilot) หรือแม้แต่การใช้วัสดุรวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง อาทิ ใช้วัสดุที่ทำมาจากอะลูมิเนียมหรือคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ซึ่งมีน้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเหล็กทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากคุณสมบัติด้านสมรรถนะของตัวรถที่เหนือกว่าแล้ว การให้บริการหลังการขายก็ต้องมีความพิเศษเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มตลาดรถพรีเมียม ไม่ว่าจะเป็นบริการรับรถและส่งมอบรถที่บ้านสำหรับการบำรุงรักษาหรือการซ่อมบำรุงรถตามระยะ รวมทั้งระยะเวลาในการรับประกันที่ยาวนานกว่ารถยนต์รุ่นปกติทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วรถยนต์ในกลุ่มนี้จะมีราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ราว 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยแบรนด์ที่มีรถยนต์จัดอยู่ในหมวดรถยนต์หรู ได้แก่ BMW, Mercedes-Benz, Porsche, Rolls-Royce, Jaguar, Audi‎, Bentley‎, Lexus, Maserati, Lamborghini‎, Volvo, Ferrari, Land Rover และ Cadillac เป็นต้น

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp