“จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. พลิกเกมลงทุน “ทองคำ” รอจังหวะราคาเข้าซื้อ”

41

มิติหุ้น   –  นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า นักลงทุนที่ลงทุนใน “ทองคำ” จะต้องจับตาการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐอเมริกา เดือนมกราคม ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (10 ก.พ.) หากตัวเลข CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.1% มีโอกาสสูงที่ “ทองคำ” จะถูกเทขาย จากแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องเร่งใช้มาตรการเคร่งครัดทางการเงินในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งตอนนี้มีโอกาสสูงถึง 30% ที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียวถึง 0.50% เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากตัวเลขเงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้น หรือ ลดลงเล็กน้อย อาจจะเป็นผลดีต่อราคาทองคำ เพราะจะเป็นการลดแรงกดดันของ FED ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และการที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง “ทองคำ” จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกของนักลงทุนในการถือเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้  ในเชิงกราฟเทคนิค “ทองคำ” กำลังอยู่ในช่วงของการสะสมกำลังในกรอบ Sideway ใหญ่ มาตลอดหนึ่งปี โดยหลังจากที่ราคาขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ราคาทองคำก็ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก ขณะเดียวกันหลังจากลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,690 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาทองคำก็ไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่อีกเช่นกัน และในขณะนี้แนวโน้มราคาทองคำกำลังยกโลว์สูงขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวหากราคาเลือกทางชัดเจนว่าจะเป็น ขาขึ้น หรือ ขาลง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่รุนแรง

“เป็นไปได้ว่าภายในหนึ่งถึงสองเดือนไม่เกินจากนี้ ราคาทองคำจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็น ขาขึ้น หรือ ขาลง เพราะรูปทรงของราคาที่เป็นสามเหลี่ยมบีบตัวแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ทั้งพุ่งขึ้นและร่วงลงแรง สำหรับผู้ที่มองการลงทุนระยะยาวแนะนำให้รอราคาทองคำเลือกทางที่ชัดเจนก่อน ส่วนนักเทรดให้เน้นเก็งกำไรระยะสั้น”

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงและผลักดันราคาทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปีนี้ คือ ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกลาง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับกลุ่มประเทศ NATO โดยสองเหตุการณ์นี้ ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นจะเป็นแรงผลักดันราคาทองคำให้กลายเป็น “ขาขึ้น” ได้

นายณพวีร์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ ยังมีผลต่อราคา “น้ำมันดิบ” ให้ปรับตัวขึ้นอีกด้วย ล่าสุด ราคาได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบสิบปี และราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 21% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่มุมมองทางด้านกราฟเทคนิคราคาน้ำมัน WTI มีโอกาสที่จะแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งได้มีการคาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มในระยะสั้นถึงกลาง ยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) ยังไม่ยอมลดกำลังการผลิตตามที่ประเทศสหรัฐฯ ร้องขอ จึงยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคา “ทองคำ” มากที่สุด คือความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ แต่จะส่งผลบวกในระยะสั้นเท่านั้น ยกเว้นแต่จะเกิดการสู้รบขึ้นจริง ๆ ถึงจะผลักดันราคาในระยะยาว ส่วนปัจจัยทางด้านลบยังต้องติดตามดูนโยบายการเงินของ FED เป็นหลัก เพราะทองคำมีการเคลื่อนไหวที่ตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างชัดเจน”

สำหรับกรอบราคา “ทองคำ” ประเมินในกรณีที่ราคาทองคำเป็น “ขาขึ้น” คาดว่าจะสามารถกลับไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ได้ และในระยะยาวอาจจะไปได้ถึงระดับ 2,310 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ แต่หากพลิกกลับเป็น “ขาลง” มองแนวรับแรก อยู่ที่ 1,670 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดเดิม แต่ถ้าหลุดจากระดับดังกล่าวอาจจะลงมาได้ถึงระดับ 1,563 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp