กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับ สตช. ในการประชาสัมพันธ์ 14 กลโกงของมิจฉาชีพ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันแก็งค์ Call Center และ SMS หลอกลวง

89

มิติหุ้น   –   นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (15 ก.พ. 2565) สำนักงาน กสทช. ร่วมประชุมหารือกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT ที่นำโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ได้แก่ AIS TRUE DTAC และ NT เกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวง โดยสำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับ สตช. และกระทรวงดีอีเอส ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตาม และยังจะร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตราย สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ จะได้ไม่หลงให้ข้อมูลส่วนตัวไปกับใครง่ายๆ อันอาจทำให้เสียทรัพย์สิน

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ สตช. พบว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่ 1.หลอกขายของออนไลน์ 2.Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้ 3.เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด 4.เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) 5.หลอกให้ลงทุนต่างๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง 6.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 7.Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน 8.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ 9.แชท Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน 10.หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว – OTP 11.ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์ 12.หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ 13.โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประทศ และ 14.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ

“ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวงอยู่นั้น สำนักงานก็อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ DSI พนักงานธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ อย่าเพิ่งให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปตามที่เขาขอ อย่ากดลิงก์ที่แนบมาพร้อม SMS ที่ไม่ทราบที่มา แต่ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสายที่โทรมา หรือผู้ที่ส่ง SMS มานั้นไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทองของท่าน”นายไตรรัตน์ กล่าว

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp