สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 14-18 ก.พ. 65 และแนวโน้ม 21-25 ก.พ. 65

97

 

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า เคลื่อนไหวขึ้นลงระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นาย Suhail al-Mazrouei เห็นว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น มากกว่าเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน โดยตลาดให้น้ำหนักต่อวิกฤติยูเครนมากกว่ากระแสข่าวการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน, และเยอรมนี (P5+1) ซึ่งผู้แทนของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังดำเนินการประชุมรอบที่ 9 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากสำเร็จจะทำให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วม JCPOA และยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น

ให้จับตาภูมิอากาศแปรปรวนอาจส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน อาทิ พายุ Eunice (ความเร็วลม 196 กม./ชม.) พัดกระหน่ำยุโรปเมื่อ 19 ก.พ. 65 โดยเฉพาะอังกฤษ ทำให้ไฟฟ้าดับกว่า 1.3 ล้านครัวเรือน แม้จะสามารถกู้ระบบส่วนใหญ่กลับมาได้ภายในวันเดียวกัน แต่ไฟฟ้ายังคงดับประมาณ 155,000 ครัวเรือน ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คนในอังกฤษ และ 6 คนในไอร์แลนด์ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเบลารุส นาย Viktor Khrenin ประกาศขยายเวลาซ้อมรบร่วมกับรัสเซีย ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.พ. 65 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังทหารยูเครนโจมตีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (ซึ่งสนับสนุนการควบรวมกับรัสเซีย) ในเมือง Donetsk และ Luhansk ทางตะวันออกของยูเครนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 17 ก.พ. 65
  • อีกทั้งมีรายงานเมื่อ 19 ก.พ. 65 ว่าเกิดเหตุวินาศกรรมท่อ Druzhba ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบเครือข่ายท่อปิโตรเลียมซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก (ความยาวรวมประมาณ 4,000 กม. กำลังการขนส่ง 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซีย และคาซัคสถาน ไปทั่วยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ตามจุดที่ถูกโจมตีเป็นส่วนสำหรับส่งก๊าซฯ ท่อดังกล่าวขนส่งก๊าซธรรมชาติไม่มากนัก โดยจุดระเบิดอยู่ที่เมือง Luhansk ในยูเครน ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดข้อพิพาท
  • รายงานฉบับเดือน ก.พ. 65 ของ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 100.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 870,000 บาร์เรลต่อวัน)

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ของญี่ปุ่นมีแผนออกประมูลขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ครั้งที่ 2 ให้กับผู้ซื้อในญี่ปุ่น ในวันที่ 9 มี.ค. 65 ปริมาณรวม 635 ล้านบาร์เรล โดยแบ่งเป็น 943,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 20 เม.ย.- 31 ก.ค. 65 และ 692,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 20 เม.ย.- 31 ส.ค. 65
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Jerome Powell แสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ (ในเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ +5% จากปีก่อน) ว่าอาจต้องใช้ความพยายามในการชะลอมากกว่าที่คาด ทั้งนี้ S&P Global Platts คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 จำนวน 6 ครั้งๆ ละ 0.25% โดยจะเริ่มในเดือน มี.ค. 65

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้