มิติหุ้น – บมจ.แอดเทค ฮับ (ADD) โชว์ศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ประกาศงบผลการดำเนินงานปี 2564 มีรายได้รวม 515 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 49.05% ขณะที่กำไรสุทธิ 98.75 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 36.46% เมื่อเทียบจากปีก่อน รับอานิสงส์ โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ หนุนรายได้ดิจิทัลคอนเทนต์ โต 54.07% และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โต 24.75% ด้าน CFO “สมโภช ทนุตันติวงศ์” กางแผนปี65 ลุยปรับกลยุทธ์ อัปเกรด Content- Solution เจาะกลุ่มโอเปอเรเตอร์เพิ่ม หนุนรายได้ปี 2565 โต20 %
นายสมโภช ทนุตันติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท แอดเทค ฮับ จำกัด (มหาชน) หรือ ADD ผู้ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการระบบสนับสนุนบริการดิจิทัลคอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า สำหรับปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่ “ADD” มีความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทฯ เดินหน้าขยายการให้บริการทั้งในส่วนของการให้บริการดิจิทัล คอนเทนต์ (Digital Content) ผ่านช่องทางโทรคมนาคม รวมถึงการให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการลงทุนเครือข่าย 5G ถือเป็นโครงข่ายความเร็วสูง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานได้จริงในอนาคต หนุนให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Content ใหม่ ๆ ออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้บริการ Digital Content ในรูปแบบการสมัครสมาชิก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวสนับสนุนให้ภาพรวมธุรกิจในอนาคตเติบโตอย่างโดดเด่น ประกอบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้บริการออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวม เท่ากับ 515 ล้านบาท เติบโต ร้อยละ 49.05% และมีกำไรสุทธิ 98.75 ล้านบาทเติบโตร้อยละ 36.46% ทั้งนี้ สาเหตุที่ผลการดำเนินงานงวดปี2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ 1.) ธุรกิจการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ผ่านช่องทางโทรคมนาคม ที่มีรายได้ 442.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.07% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคู่ค้าด้านการตลาดในช่องทางออนไลน์ ซึ่งทำให้การให้บริการสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น จนมีความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นแตะ 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46.58%
ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง ตามต้นทุนส่วนใหญ่ที่เป็นต้นทุนมาจากส่วนแบ่งรายได้ให้แก่คู่ค้าด้านการตลาดซึ่งจะแปรผันไปตามรายได้ และคู่ค้าด้านการตลาดรายใหม่ในช่องทางออนไลน์มีอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้น
2.) ธุรกิจการให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้ จำนวน 72.11ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.31 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.75% เนื่องจากบริษัทฯมีการให้บริการโครงการใหม่แก่ลูกค้ากลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีกำไรขั้นต้น จำนวน 41.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.95% โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าบริการคลาวด์เซิร์ฟเวอร์และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานเพิ่มขึ้น และ 3.) ธุรกิจการให้บริการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.48 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.08 เทียบกับปีก่อน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และมีขาดทุนขั้นต้น 2.23 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานซึ่งเป็นต้นทุนคงที่
สำหรับภาพธุรกิจรวมถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2565 นั้น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ. แอดเทค ฮับ “ADD” กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของรายได้รวมในปี 2565 เพิ่มขึ้น 20% หรือไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท เมื่อเทียบจากปี 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้การวางผลยุทธ์จากการใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% โดยเฉพาะด้าน E-Content ซึ่งมีการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสาระและความบันเทิง ที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบ Work From Home (WFH) และเรียนผ่านระบบ Online อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกลุ่มกลุ่มโอเปอเรเตอร์ ยังมีการขยายการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆเพิ่มขึ้น จากความพยายามในการรักษาฐานลูกค้า ประกอบกับการทยอยเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ รองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคมีการใช้งานแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ
“ความต้องการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากระบบชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Carrier Billing) ที่โอเปอเรเตอร์พยายามให้ลูกค้าหันมาจ่ายค่าคอนเทนต์ผ่านซิมมือถือ โดยจะทำให้ได้ส่วนแบ่งจากผู้ผลิตคอนเทนต์มากขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ ที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากโอเปอเรเตอร์เช่นกัน ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวจึงถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้มีการเติบโต”
นอกจากนี้ ยังเดินเกมรุกทางธุรกิจในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ทั้งในกลุ่มโอเปอเรเตอร์และผู้ใช้โทรศัพท์ เพื่อร่วมมือในการพัฒนาระบบการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการให้บริการและตอบโจทย์กับผู้บริโภคได้ครบทุกมิติ
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้วางแผนพัฒนาระบบนิเวศดิทิจัล (Digital Ecosystem)ให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเพิ่มรูปแบบบริการใหม่ๆ รวมถึงขยายโอกาสการทำงานร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ ๆ ทั้งในกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการเตรียมขยายฐานการให้บริการในส่วนของธุรกิจการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ ผ่านช่องทางโทรคมนาคม (Content) เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มกลุ่ม Content ที่น่าสนใจ เพื่อครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มย่อย และเปิดกว้างรับพันธมิตรที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ เนื่องจากธุรกิจการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ ถือเป็นสัดส่วนรายได้ทางธุรกิจ มากกว่า 80% ของรายได้รวม ควบคู่ไปกับการขยายฐานการให้บริการในส่วนของการให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Solution) เช่นเดียวกัน เพื่อขยายสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันการให้บริการธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 20% ของรายได้รวม ดังนั้นหากบริษัทฯมีพันธมิตรใหม่ ๆ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้