KEY SUMMARY
ประเดิมมูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2022 ขยายตัว
การส่งออกในเดือนแรกของปี 2022 ขยายตัว 8% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 24.7% อยู่มาก ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของการส่งออกของหลายประเทศสำคัญทั่วโลกในเดือนมกราคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ขณะที่อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้เร่งตัวไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะต่อไปไปยังมีแนวโน้มที่ดี จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก แม้มีปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย–ยูเครนที่อาจชะลอการขยายตัวของการค้าโลก
ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022
ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022 จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกในช่วงหลัง ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ยังผันผวน
และอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัญหาทางด้านอุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก
ส่งออกยังเติบโตได้ แต่ต้องจับตาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน
EIC อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2022 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบของการระบาดโอมิครอน
ที่รุนแรงน้อยกว่าคาด และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมใน RCEP ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบกับการส่งออก รวมถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรม เกษตร และปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะในด้านต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทย
KEY POINTS
มูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2022 ขยายตัว 8%YOY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.2% ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 20.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 33.4% ทำให้ดุลการค้าในเดือนแรกของปี 2022 ขาดดุลที่ 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกและนำเข้ารายสินค้าในเดือนมกราคมเนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากร ซึ่งดำเนินการในทุก ๆ 5 ปี ซึ่งในครั้งนี้จะดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2022 สำหรับการส่งออกสินค้ารายตลาดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกไปอินเดีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ขยายตัวได้มากที่สุดเป็น 5 ลำดับแรก
IMPLICATIONS
การส่งออกในเดือนแรกของปี 2022 ขยายตัว 8% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.7% โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนธันวาคม (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะหดตัวมากถึง -15.2% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก (รูปที่ 1 ซ้าย) รวมถึงกิจกรรมในภาคการผลิตที่ชะลอลง
ในเดือนมกราคม ซึ่งสะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI – export orders ที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 50
เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน และดัชนี Manufacturing PMI ที่ลดลงทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา (รูปที่ 1 ขวา) ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะถัดไปยังมีแนวโน้มที่ดี สะท้อนจากตัวเลขล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนี Global Manufacturing PMI – export orders กลับมายืนเหนือระดับ 50 ได้อีกครั้ง และมูลค่าการส่งออกของเวียดนามและเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมแบบปรับฤดูกาล
รูปที่ 1 : การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2022 ขยายตัวในอัตราชะลอลง สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกและดัชนี Manufacturing PMI ที่ปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ IHS Markit และ CEIC
ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022 จากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกในช่วงหลัง ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้าส่งออก (รูปที่ 2) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ยังผันผวนและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัญหาทางด้านอุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัว
ของอุปสงค์โลก
รูปที่ 2 : เปรียบเทียบการนำเข้าและส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และ CEIC
EIC อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2022 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จาก (1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วงก่อนหน้าจากผลกระทบของโอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าประมาณการเดิม (2) มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก และ (2) ในระยะต่อไป จะยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022
ที่ผ่านมา
ผลกระทบจากการส่งออกโดยตรงไปตลาดรัสเซียและยูเครนต่อการส่งออกรวมของไทยจะมีจำกัด แต่จำเป็นต้องจับตาผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน แม้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยตรงมากนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.43% ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่สงครามระหว่างรัสเซีย–ยูเครนยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยได้ในหลายช่องทาง ได้แก่ (1) สงครามและมาตรการคว่ำบาตรอาจทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งรวมสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และกลุ่มสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) คิดเป็น 9.9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย (2) รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ รวมถึงสินค้าด้านการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ปุ๋ย ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันทานตะวัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้เพื่อการผลิตอุตสาหกรรม การเกษตร และปศุสัตว์ ในราคาที่แพงขึ้น และอาจทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลง (3) รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตแร่พาลาเดียมและก๊าซนีออนหลักของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จึงอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยืดเยื้อกว่าที่คาด ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ของไทย (4) อัตราค่าระวางเรืออาจอยู่ในระดับที่สูงยาวกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกอาจเป็นโอกาสให้สินค้าของไทยบางประเภทสามารถไปตีตลาดแทนที่การส่งออกสินค้าของรัสเซียและยูเครนได้เช่นกัน เช่น มันสำปะหลัง (เพื่อทดแทนข้าวโพด) และอาหารสำเร็จรูปบางกลุ่ม เป็นต้น
ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว EIC จะทำการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2022 ใหม่ และเผยแพร่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้
รูปที่ 3 : การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครน
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8115
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
ดร. ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้
https://lin.ee/cXAf0Dp