กลุ่ม KTIS เผยล่าสุดปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่าปีก่อน 32% พัฒนาคุณภาพอ้อยได้ผล ค่าความหวานสูงสุดเขตภาคเหนือ

128

กลุ่ม KTIS เปิดข้อมูลหีบอ้อยเบื้องต้น โค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบ พบโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ในกลุ่ม KTIS ได้อ้อยที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.66 ซี.ซี.เอส. สูงที่สุดในเขตภาคเหนือ สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพอ้อยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดซึ่งยังไม่ปิดหีบ 3 โรงงานได้อ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 5.7 ล้านตัน สูงกว่าที่คาด โดยมีปริมาณอ้อยมากกว่าปีก่อนประมาณ 32% ประกอบกับราคาขายน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สูงกว่าปีก่อน จะส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2565 ดีกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน

 

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  กลุ่มบริษัท  เกษตรไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/65 ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565 หลังจากเปิดหีบอ้อยมาแล้ว 102 วัน พบว่า ผลผลิตอ้อยของทั้ง 3 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ  โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ (สาขา 3) ที่ จ.นครสวรรค์ และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ มีอ้อยเข้าหีบแล้ว รวม 5.71 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนประมาณ 32% และผลิตน้ำตาลได้แล้ว 5.76 ล้านกระสอบ

 

“ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้จะทำให้ทุกสายธุรกิจมีวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าปีก่อน  ทั้งการผลิตและจำหน่ายเอทานอล การจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และการจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย และหลอดชานอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูง และราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในทุกสายธุรกิจก็สูง จะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ปีนี้ดีขึ้นกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

 

สำหรับโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้รับอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 1.45 ล้านตัน โดยมีค่าความหวาน (C.C.S.) เฉลี่ย 12.66 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในกลุ่มโรงงานน้ำตาลเขตภาคเหนือ ส่วนอีก 2 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ และโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ (สาขา 3) ที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับอ้อยในแถบภาคกลางตอนบนเข้าหีบ ก็ได้อ้อยที่มีค่าความหวานสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลในเขตภาคกลาง โดยค่าเฉลี่ย C.C.S. ของอ้อยในเขตภาคกลางอยู่ที่ 11.60 แต่ของโรงงานเกษตรไทยฯ และเกษตรไทยฯ สาขา 3 มีค่าความหวานเฉลี่ย 11.92 และ 11.66 ตามลำดับ

 

“ค่าความหวานซึ่งสะท้อนคุณภาพอ้อยนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์อ้อย ปริมาณน้ำ สภาพดิน และสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ด้วย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบจึงใช้การเปรียบเทียบกับอ้อยในเขตเดียวกัน ซึ่งการที่อ้อยของชาวไร่คู่สัญญาของกลุ่ม KTIS มีคุณภาพสูงกว่าค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่กลุ่มของเราพยายามส่งเสริมความรู้ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคนิคต่างๆ ให้กับชาวไร่อ้อยนั้นได้ผล และเราก็จะเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยผลิตอ้อยที่มีคุณภาพและผลผลิตต่อไร่สูงยิ่งขึ้นต่อไป” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

 

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวย้ำว่า โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะนี้ติดตั้งเครื่องจักร 50 เครื่องเกือบจะแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว และจะสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดและเริ่มรับรู้รายได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 นี้

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp