CPF เผยแพร่รายงานความยั่งยืน ประจำปี 2564 ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยการลงมือทำ

56

มิติหุ้น – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ   เปิดตัวรายงานยั่งยืน ประจำปี 2564 ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สู่ทศวรรษใหม่แห่งความยั่งยืน ด้วยการลงมือทำ  ขับเคลื่อนเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ก้าวสู่เป้าหมายองค์กรลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  (Net-Zero Emissions)
รายงานความยั่งยืน ประจำปี  2564 ของซีพีเอฟ จัดทำขึ้นตามมาตรฐานของ Global Reporting Initiative (GRI)   สะท้อนความก้าวหน้าของบริษัทในการดำเนินการด้านความยั่งยืน  การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และโรคระบาดในสุกร ASF (African Swine Fever) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก  การบริหารจัดการอย่างรอบคอบและรอบด้านด้วยความรวดเร็ว ช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยไม่หยุดชะงัก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้บริษัทฯ ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้  ตลอดจนผลการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน  CPF 2030 Sustainability in Action  ภายใต้ 3 เสาหลัก  9 ความมุ่งมั่นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)   ทั้ง 17 ประการ
นายวุฒิชัย  สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกกระบวนการ Feed Farm  Food   ซึ่งบริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้เป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action  ตามแนวทาง 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่   มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก   ดูแลคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเกษตรกร คู่ค้าธุรกิจ และสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งดูแลความปลอดภัยของพนักงาน
“ซีพีเอฟ สนับสนุนความร่วมมือกับภาคสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างความตระหนักรู้  และร่วมส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ด้วยการลงมือทำในระดับบุคคล ครอบครัว  ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น   ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า   ฟื้นฟูธรรมชาติและสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในวันนี้และอนาคต ” นายวุฒิชัย กล่าว
การดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายความยั่งยืน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์ นวัตกรรมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition) เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก  มีการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) มาใช้  ทั้งการนำระบบดิจิทัล (Digitization) เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ลดความเสี่ยงของธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  มุ่งสู่เป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  (Net-Zero Emissions)
นายวุฒิชัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผลการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก   ด้านอาหารมั่นคง บริษัทฯ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค โดย 40% ของผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากขึ้น     การเพิ่มกำลังการผลิตไข่ไก่จากฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) รวม 30 ล้านฟอง การเลี้ยงดูสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องในระบบคอกขังรวม ที่มีเป้าหมายดำเนินการให้ได้  100 % ในปี  2568   การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่เนื้อซึ่งดำเนินการไปแล้ว 64.87 %   เป็นต้น
ด้านสังคมพึ่งตน  ในภาวะวิกฤตโควิด-19 บริษัทฯ ให้ความสำคัญสุงสุดกับการดูแลพนักงานทุกคน ทั้งมาตรการป้องกันและการรักษาพยาบาล  รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง เพื่อดูแลพนักงานของบริษัท   และประชาชน    ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาทิ  การเคารพสิทธิมนุษยชนและดูแลพนักงานที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน   การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพพนักงานทั่วโลก การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางการค้าที่ยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานกว่า 460 รายทั่วโลก และหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคู่ค้าด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน   ทำให้บริษัทได้รับรางวัล CAC Change Agent Award 2021
นอกจากนี้   ซีพีเอฟดำเนินโครงการด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง  อาทิ  โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน แบบประกันรายได้ หรือ คอนแทรคฟาร์ม  จากผลประเมินการลงทุนทางสังคมของโครงการดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ  4,574 ล้านบาท  และเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) 9 ข้อ จากทั้งหมด 17 ข้อ
ด้านดินน้ำป่าคงอยู่   บริษัทฯ หมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีเป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions)  โดยปัจจุบันใช้พลังงานหมุนเวียนสูงถึง 27%  ของการใช้พลังงานทั้งหมด  นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ 44  % ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด พร้อมกันนี้ บริษัท ฯ ตั้งเป้าหมายนำของเสียไปสู่หลุมฝังกลบหรือเผาเหลือศูนย์ ในปี 2573  (ค.ศ.2030)  บริษัทฯ  ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ยุทธศาสตร์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง   ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 111,392 ตัน สำหรับกิจการในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี  2564 ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน อาทิ รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับโลก The International ARC Awards 2021 เป็นบริษัทไทยเพียงรายเดียวและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รางวัลจากความโดดเด่นด้านความเป็นเลิศในการสื่อสาร นำเสนอข้อมูลชัดเจน ครบถ้วน  มีความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน   รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับภูมิภาคเอเชีย จาก Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) เป็นรางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ประเภท Asia’s Best Workplace Reporting แบบอย่างองค์กรด้านดูแลและสร้างความผูกพันกับพนักงาน เคารพสิทธิมนุษยชน และดูแลความปลอดภัยพนักงานตามมาตรฐาน  รางวัลเกียรติคุณจากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปี 2564 Sustainability Disclosure Award 2021 จากสถาบันไทยพัฒน์  เป็นต้น
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp