พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ในปี 2565

54

มิติหุ้น – หลายคนอาจมีจินตนาการว่าเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) น่าจะเหมือนกับในภาพยนตร์แนวไซ-ไฟที่มียานพาหนะลอยฟ้ารับส่งผู้คน หรือมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่หมอประจำบ้าน

เราพูดถึงกันมานานเกี่ยวกับเมืองที่มีความเป็น ‘อัจฉริยะ’ แต่คำนิยามของความเป็นอัจฉริยะที่ว่านี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และเรามีการพัฒนาที่ใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เราจะมาสำรวจกันว่าพัฒนาการของ ‘สมาร์ทซิตี้’ ในปี 2565 ก้าวล้ำไปถึงไหนแล้ว

ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ล่าสุดของสมาร์ทซิตี้ยังคงห่างไกลจากภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G, เทคโนโลยีคลาวด์, บิ๊กดาต้า และ Internet of Things (IoT) ที่ถูกนำมาใช้ในเมืองอย่างต่อเนื่องทำให้พัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ได้ก้าวหน้าไปตามความคาดหวังของผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างของสมาร์ทซิตี้ในวันนี้ งาน Expo 2020 Dubai* น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในโลกสำหรับสภาพแวดล้อมเมืองที่มีการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึงและได้รับการออกแบบเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

(*ถึงแม้จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 งานนี้ยังคงใช้ชื่อ “เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ”)

ด้วยอาคารกว่า 130 หลังเชื่อมต่อถึงกันในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของประเทศโมนาโก งาน Expo 2020 Dubai ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ปลอดภัย ยั่งยืน และบริหารจัดการด้วยระบบดิจิทัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 170 ปี ของการจัดนิทรรศการระดับโลกนี้

Expo 2020 Dubai มีความเป็นอัจฉริยะมากแค่ไหน

หัวข้อหลักของการจัดงาน Expo 2020 คือ “การเชื่อมโยงความคิดและการสร้างสรรค์อนาคต”  งานนิทรรศการนี้อาศัยการขับเคลื่อนด้วย AI และมีแพลตฟอร์มที่แยกต่างหากสำหรับการจัดการพลังงาน  นอกจากนี้ อาคารอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำงานอย่างสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้จัดการอาคารสามารถควบคุมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น การทำความเย็น คุณภาพของอากาศ การผ่านเข้า-ออกอาคาร และสัญญาณเตือนอัคคีภัย

Expo 2020 เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งงานกว่า 210,000 จุด รวมไปถึงประตูเข้า-ออก 5,500 จุด และกล้องกว่า 15,000 ตัว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าชมงาน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ  นอกจากนั้น ยังมีการประหยัดพลังงาน ปรับสมดุลในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ และใช้พลังงานที่กักเก็บในแบตเตอรี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงการชาร์จไฟให้กับยานยนต์ไฟฟ้า

ความชาญฉลาดของงาน Expo 2020 อยู่บนระบบปฏิบัติการ MindSphere ที่ทำงานบนคลาวด์ของซีเมนส์ (Siemens) โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์โดยสาร ไปจนถึงเครื่องปรับอากาศ โคมไฟส่องสว่างและฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ถูกเชื่อมโยงในลักษณะที่สัมพันธ์กันและถูกกลั่นกรองออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ปรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเมือง โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ถูกออกแบบและรวมไว้ตั้งแต่ระดับรากฐานของ MindSphere

งาน Expo 2020 ตอกย้ำถึงศักยภาพของสมาร์ทซิตี้อย่างรอบด้าน กล่าวคือ ระบบอัจฉริยะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อมิติต่างๆ ของเมือง เช่น การบริหารจัดการ การคมนาคมขนส่ง บริการสาธารณสุข และการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมมูลค่าราว 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯจนถึงปี พ.ศ. 2569

ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าการลงทุนเพื่อปรับปรุงเมืองให้ฉลาดขึ้นจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2564 เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2573 โดยจะเป็นการลงทุนทั้งในส่วนของภาคเอกชน เช่น การสร้างอาคารอัจฉริยะ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) รวมถึงภาครัฐ และทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีความยืดหยุ่นและปลอดภัยมากขึ้น

ต่อยอดจาก Expo 2020 Dubai สู่เมืองที่แท้จริง

หลังจากที่งาน Expo 2020 สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนมีนาคม พื้นที่ในบริเวณนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีชื่อว่า District 2020 ภายใต้โครงการของรัฐบาลดูไบ

ด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานและการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีการก่อสร้างแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้กลายเป็นชุมชนเมืองเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัย องค์กรธุรกิจ และนักท่องเที่ยว District 2020 จะยังคงเก็บรักษาสินทรัพย์และสิ่งก่อสร้างภายในพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ที่เป็นไปตามมาตรฐานอาคารสีเขียวทั้ง LEED และ CEEQUAL โดยจะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนเมืองอัจฉริยะที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์และรองรับการใช้งานที่หลากหลายและยั่งยืน มีทั้งพื้นที่สำนักงาน พื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน ชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นและเงียบสงบ สถานที่ท่องเที่ยวทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ศูนย์นิทรรศการ Dubai Exhibition Center และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อธุรกิจและการพักผ่อน โดยคาดว่า District 2020 จะสามารถรองรับได้ประชากรสูงสุดถึง 145,000 คน

ซีเมนส์จะมีบทบาทสำคัญในการแปลงโฉมพื้นที่จัดงาน Expo 2020 ให้กลายเป็น District 2020 และจะกลายเป็นผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ระดับโลกในส่วนของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางบก และทางเรือ จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี มาที่ District 2020 และคาดว่าพนักงานของซีเมนส์ประมาณ 1,000 คนจะทำงานอยู่ในอาคารสองหลังที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการอาคารที่ถูกติดตั้งไว้เดิมสำหรับงาน Expo 2020 เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และแพลตฟอร์ม IoT ที่รองรับ ‘ระบบตรวจจับ’ ทั่วทุกจุดภายในอาคาร เพื่อจัดหาข้อมูลแบบเรียลไทม์และข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะใช้งานของอาคาร รวมไปถึงการให้บริการค้นหาตำแหน่งที่ตั้งสำหรับบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ

ถอดบทเรียน Expo 2020 Dubai กับการพัฒนา Smart City ของประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดก่อให้เกิดปัญหาท้าทายมากมายสำหรับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยังทำให้รูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน และการพบปะสังสรรค์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน  นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนสำหรับเมืองต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อมูลว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 60% มาจากพื้นที่เมือง  ความท้าทายที่สำคัญสองประการนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริหารเมืองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตของเมืองที่ตนเองดูแล ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากกัน

เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ไฟฟ้า ประปา และเครือข่ายการสื่อสาร จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

แนวทางการสร้างสมาร์ทซิตี้จากงาน Expo 2020 ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้:

  • เมืองจะเป็นเมืองก็ต่อเมื่อมีคนอาศัยอยู่ ดังนั้นการออกแบบสมาร์ทซิตี้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมุ่งเน้นที่คนเป็นหลัก (Human-Centered)
  • เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่ในระดับที่แตกต่างกันสำหรับเทคโนโลยีแต่ละอย่างและเมืองแต่ละแห่ง ดังนั้นจึงไม่มีโซลูชันแบบครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกเมือง การผสมผสานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การติดตั้งใช้งานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ จะช่วยให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะและรองรับการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เมืองจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากส่วนต่างๆ ของเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องแล็บมีชีวิต เพื่อพัฒนาปรับปรุงเมืองให้มีความฉลาดอยู่เสมอ โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างฯ ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับขนาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับเมืองต่าง ๆ เพราะในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เราจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่เมือง การปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น AI, IoT, Blockchain, Big Data ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่เมืองต่าง ๆ เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากที่การเดินทางระหว่างประเทศและกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเริ่มกลายเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวพักผ่อน การเดินทางเพื่อทำธุรกิจ หรือจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุน เราสามารถเร่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้ด้วยการเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และสร้างโซลูชั่นที่เหมาะกับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โดยจุดมุ่งหมายคือการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น และมีความยั่งยืนสำหรับทั้งคนไทยและผู้มาเยือน

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp